xs
xsm
sm
md
lg

ผู้นำอาวุโสจีนชี้ความสัมพันธ์กับเวียดนามจำเป็นต้องอยู่บนเส้นทางที่ถูกต้อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>หยู เจิ้งเซิง (ซ้าย) พบหารือกับเล ห่ง แอ็ง สมาชิกคณะเลขาธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ในกรุงฮานอย เมื่อวันที่ 25 ธ.ค.--Xinhua/Liu Jiansheng.</font></b>

รอยเตอร์ - จีนต้องการให้ความสัมพันธ์กับเวียดนามดำเนินไปตามเส้นทางที่ถูกต้อง ผู้นำอาวุโสของจีนที่เดินทางเยือนเวียดนามระบุ และให้คำมั่นว่า จะปรับปรุงความไว้วางใจต่อกันท่ามกลางความตึงเครียดระหว่างเพื่อนบ้านเกี่ยวกับการอ้างสิทธิอธิปไตยในทะเลจีนใต้

หยู เจิ้งเซิง ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านการเมืองของจีน และเป็นสมาชิกอันดับ 4 ของคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้แสดงความเห็นดังกล่าวในระหว่างการพบหารือกับเล ห่ง แอ็ง สมาชิกคณะเลขาธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ที่กรุงฮานอย ตามการเปิดเผยของสื่อทางการจีน

“การเยือนเวียดนามในครั้งนี้ตามที่รับมอบหมายจากประธานาธิบดีสี จิ้นผิง มีเป้าหมายที่จะเสริมความไว้วางใจต่อกัน สร้างความเข้าใจ และความสัมพันธ์รของจีนและเวียดนามให้อยู่บนทางที่ถูกต้อง” สำนักข่าวซินหวาของทางการจีนรายงานคำกล่าวของหยู

จีนมีความประสงค์ที่จะเพิ่มการติดต่อสื่อสารกับเวียดนาม และจัดการกับความสัมพันธ์ทวิภาคีจากมุมมองทางยุทธศาสตร์ในระยะยาว

ทั้งสองประเทศต่างปกครองด้วยพรรคคอมมิวนิสต์ และการค้าของสองประเทศเพื่อนบ้านนี้เพิ่มขึ้นถึง 50,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี แต่เวียดนามยังคงมีความแคลงใจต่อเพื่อนบ้านยักษ์ใหญ่รายนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอ้างสิทธิของจีนในพื้นที่เกือบทั้งหมดของทะเลจีนใต้

ความรุนแรงต่อต้านจีนปะทุขึ้นในเวียดนามเมื่อเดือน พ.ค. หลังบริษัทน้ำมัน CNOOC ของทางการจีนตั้งแท่นขุดเจาะน้ำมันห่างจากชายฝั่งเวียดนาม 240 กม. ในทะเลจีนใต้ และนับตั้งแต่นั้นจีนพยายามที่จะฟื้นฟูความสัมพันธ์กับเวียดนาม รวมทั้งการส่งเจ้าหน้าที่อาวุโสเยือนฮานอย

อย่างไรก็ตาม สองประเทศยังคงปะทะกันอีกครั้งในเดือนนี้ เมื่อเวียดนามได้ยื่นเรื่องยืนยันจุดยืนในความขัดแย้งทางทะเลต่อศาลโลกตามการริเริ่มของฟิลิปปินส์

เล ห่ง แอ็ง ที่เดินทางเยือนกรุงปักกิ่งในเดือน ส.ค. ได้เรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายดำเนินการตามฉันทมติที่บรรลุระหว่างผู้นำอาวุโสของสองประเทศเกี่ยวกับประเด็นปัญหาทางทะเล และแก้ไขข้อแตกต่างอย่างเหมาะสม และรับผิดชอบในการสืบต่อมิตรภาพดั้งเดิมที่ดำเนินมาตั้งแต่ผู้นำรุ่นก่อน

จีนอ้างสิทธิอธิปไตยเหนือพื้นที่ 90% ของทะเลจีนใต้ ด้วยการแสดงสิทธิบนแผนที่อย่างเป็นทางการด้วยสิ่งที่เรียกว่า เส้นประ 9 เส้น ที่ทอดยาวเข้ามาในน่านน้ำของทะเลจีนใต้

มาเลเซีย บรูไน และไต้หวัน ต่างก็อ้างสิทธิในพื้นที่บางส่วนของน่านน้ำแห่งนี้เช่นกัน ซึ่งอุดมด้วยทรัพยากร และเป็นเส้นทางเดินเรือสำคัญ.
กำลังโหลดความคิดเห็น