แถ่งเนียน - หอการค้าสหรัฐฯ (AmCham) คาดการณ์ว่ามูลค่าการส่งออกของเวียดนามไปยังสหรัฐฯ ในปีนี้จะมีมูลค่าถึง 29,400 ล้านดอลลาร์ ซึ่งจะทำให้เวียดนามกลายเป็นผู้ส่งออกสินค้ารายใหญ่ที่สุดของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้แก่อดีตศัตรูสงครามเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์
หอการค้าสหรัฐฯ ยังคาดอีกว่า การค้าทวิภาคีจะยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึง 57,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2563 ทิ้งห่างชาติอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และการส่งออกของเวียดนามไปยังสหรัฐฯ จะมีสัดส่วน 34.1% ของมูลค่าการส่งออกรวมทั้งหมดของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2563 หนังสือพิมพ์เตื่อยแจ๋รายงาน
ในปี 2543 มูลค่าการส่งออกจากเวียดนามไปยังสหรัฐฯ อยู่ที่ประมาณ 800 ล้านดอลลาร์ ซึ่งนั่นหมายความว่า เวียดนามมีมูลค่าการค้าเพิ่มขึ้นเกือบ 36 เท่า ในช่วงเวลา 14 ปี
เจ้าหน้าที่ด่านกักกันพืชของเวียดนาม ระบุว่า เวียดนามส่งออกผัก และผลไม้ไปยังสหรัฐฯ ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ มีมูลค่าทั้งหมด 41.5 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 12% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ส่วนการส่งออกอาหารทะเลมีมูลค่าราว 1,300 ล้านดอลลาร์ ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ ซึ่งทำให้สหรัฐฯ กลายเป็นผู้บริโภครายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม
ด้านประธานสมาคมผู้ผลิตและส่งออกอาหารทะเลเวียดนาม ระบุว่า เวียดนามส่งออกกุ้งไปสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 51.2% เมื่อเทียบปีต่อปี ที่ 820 ล้านดอลลาร์ โดยเวียดนามเป็นผู้ส่งออกกุ้งให้แก่สหรัฐฯ รายใหญ่เป็นอันดับ 3 รองจากอินโดนีเซีย และอินเดีย
นอกจากอาหารแล้ว ภาคเครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอพบว่าเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเช่นกันตามการระบุของหอการค้าสหรัฐฯ โดยการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปของเวียดนามมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 14.85% ในช่วงระหว่างเดือน ก.ย.2556 ถึงเดือน ส.ค.2557 ทำให้เวียดนามเป็นผู้ส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปไปยังสหรัฐฯ รายใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากจีน
บริษัทผู้ผลิตรองเท้ารายหนึ่งของเวียดนาม ระบุว่า บริษัทส่งออกรองเท้าไปสหรัฐฯ 1.78 ล้านคู่ รวมมูลค่า 34 ล้านดอลลาร์ในปีนี้ ที่มีสัดส่วนเกือบ 28% ของรายได้ส่งออกรวมทั้งหมดของบริษัท คำสั่งซื้อจากสหรัฐฯ เพิ่มมากขึ้น และความต้องการมีความซับซ้อนขึ้นเช่นกัน ขณะที่กิจการเสื้อผ้าสำเร็จรูปอีกรายหนึ่ง ระบุว่า รายได้จากการส่งออก 35-40% ของบริษัทมาจากการส่งออกไปสหรัฐฯ
รองประธานสมาคมเครื่องหนัง รองเท้า และกระเป๋าถือเวียดนาม ระบุว่า สหรัฐฯ หันมาสั่งซื้อสินค้าจากเวียดนามด้วย 2 เหตุผลหลัก คือ ข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ที่คาดว่าจะลดอัตราภาษีศุลกากรกับสินค้าส่วนใหญ่ที่ผลิตในเวียดนาม และอีกเหตุผลหนึ่งคือ ค่าแรงในจีนสูงกว่าเวียดนามมาก.