เอเอฟพี - กิจการของกองทัพทหารพม่าที่อยู่เบื้องหลังอาณาจักรธุรกิจมากมายพยายามที่จะสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุนต่างชาติ หลังชนะการแย่งชิงทางกฎหมายในการซื้อหุ้นจากบริษัทเฟรเซอร์แอนด์นีฟ (Fraser & Neave - F&N) ที่เป็นหุ้นส่วนในกิจการร่วมทุนระหว่างกัน
คำแถลงของบริษัทเมียนมาร์ อีโคโนมิค โฮลดิ้ง (MEHL) รัฐวิสาหกิจของพม่า ระบุว่า บริษัทชนะสิทธิในการซื้อหุ้น 55% ของบริษัท F&N ในกิจการของบริษัทเมียนมาร์ บริวเวอรี ลิมิเต็ด (MBL) ซึ่งเป็นกิจการร่วมทุนของ 2 บริษัทที่เป็นผู้ผลิต “Myanmar Beer” เบียร์ขายดีที่สุดในพม่า
บริษัทพม่าที่ตั้งขึ้นโดยบรรดานายพลในช่วงการปกครองของกองทัพทหาร ยืนยันว่า กระทำการอย่างตรงไปตรงมาในข้อขัดแย้งกับบริษัท F&N ซึ่งบริษัทได้ปฏิเสธก่อนหน้านี้ว่าข้อขัดแย้งดังกล่าวเป็นการทดสอบกฎหมายการลงทุนของประเทศเมื่อประเทศเปิดรับกิจการต่างชาติภายใต้รัฐบาลกึ่งพลเรือน
“นี่เป็นสิ่งสำคัญอย่างมากสำหรับพม่าที่นักลงทุนต่างชาติมีความมั่นใจในวิธีที่เราดำเนินธุรกิจ การดำเนินการของอนุญาโตตุลาการแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของเราต่อกฎหมาย และเราจะยึดมั่นปฏิบัติตามกระบวนการ” รองผู้อำนวยการจัดการบริษัท MEHL กล่าวในคำแถลงฉบับหนึ่งที่ออกเผยแพร่เมื่อวันศุกร์ (31) และย้ำว่า กระบวนการทางกฎหมายมีขึ้นในสิงคโปร์ตามข้อตกลงกับ F&N
ข้อขัดแย้งทางกฎหมายเกิดขึ้นจากการกล่าวอ้างของบริษัท MEHL ที่ระบุว่า บริษัท F&N นั้นได้ละเมิดเงื่อนไขข้อตกลงการร่วมทุน เมื่อโครงสร้างความเป็นเจ้าของได้ถูกปรับเปลี่ยนไป หลังนายเจริญ ศิริวัฒนภักดี มหาเศรษฐกิจของไทยเข้าครองกิจการกลุ่มบริษัท F&N เมื่อปีก่อน
ด้านบริษัท F&N ยืนยันว่า ศาลเห็นชอบให้กิจการของกองทัพทหารพม่าเข้าซื้อหุ้นของบริษัท แต่มีคำสั่งให้ประเมินการถือครองใหม่
หัวหน้าฝ่ายกิจการเบียร์ของบริษัท F&N ระบุว่า ข้อเสนอของ MEHL มูลค่า 246 ล้านดอลลาร์ยังไม่ดีพอ และไม่ได้คำนึงถึงตำแหน่งการเป็นผู้นำของผู้ผลิตในตลาดเครื่องดื่มพม่าที่ผลกำไรเพิ่มขึ้นเกือบ 50% ในปีก่อน นอกจากนั้น ยังกล่าวว่า บริษัท MBL คือหนึ่งในบริษัทที่ใหญ่ที่สุด มีกำไรมากที่สุด และจ่ายภาษีสูงที่สุดในพม่า
“เราผิดหวังที่ข้อพิพาทนี้เกิดขึ้นในเวลาที่พม่ากำลังเปิดตลาด และอยู่ในช่วงของการเปิดตัวการแข่งขันเบียร์นานาชาติ” หัวหน้าฝ่ายกิจการเบียร์ของบริษัท F&N กล่าว พร้อมระบุว่า F&N จะพยายามกลับเข้าไปในตลาดพม่าอีกครั้ง
กิจการที่ดำเนินการโดยรัฐ และกองทัพทหารผูกขาดการผลิตเบียร์อยู่นานหลายปี แต่คาดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเมื่อตลาดเปิดรับการแข่งขันจากต่างชาติ อันเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปเศรษฐกิจ.