เอเจนซี - นักวิทยาศาสตร์สามารถจับภาพเคลื่อนไหว “แพนด้าแดง” หนึ่งในสัตว์ป่าที่น่ารักที่สุดของโลก และใกล้สูญพันธุ์ได้เป็นครั้งแรกในพม่า
ทีมนักชีววิทยาขององค์การพืชและสัตว์ระหว่างประเทศ (FFI) สามารถถ่ายภาพวิดีโอแพนด้าแดงที่มีเสน่ห์ และหายากได้เป็นครั้งแรกในพม่า ขณะที่แพนด้าแดง 2 ตัว กำลังท่องอยู่ในผืนป่าที่เต็มไปด้วยต้นสน และต้นไผ่บนเทือกเขาอิมอบัม (Imawbum) ในพื้นที่ตะวันออกเฉียงเหนือห่างไกลของประเทศ (ชายแดนพม่า-จีน -- บก.)
ภาพวิดีโอเผยให้เห็นแพนด้าแดง 2 ตัว กำลังเคลื่อนไหวช้าๆ เพื่อหาใบไผ่อยู่บนกองหินที่ถล่มลงมาจากการตัดไม้ของชาวจีน ภาพถ่ายสั้นๆ นี้ยังย้ำให้เห็นถึงภัยคุกคามแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าสายพันธุ์หายากชนิดนี้ เมื่อบริษัทของจีนหลายแห่งไม่เพียงแต่ทำลายป่า แต่ยังเปิดทางเข้ามาเพื่อล่า และค้าสัตว์ป่าซึ่งเพิ่มสูงตามความต้องการของประเทศ
“เมื่อเราพบแพนด้าแดง 2 ตัว เราเกิดความรู้สึก 2 อย่างขึ้นพร้อมกันคือ มีความสุขอย่างมากที่ได้เห็นแพนด้าแดงกับตา และสามารถเก็บภาพที่น่าตื่นเต้นนี้ไว้ได้เป็นครั้งแรก ขณะเดียวกัน ก็เศร้าใจต่อสภาพที่อยู่อาศัย และภัยคุกคามต่อสัตว์เหล่านี้” ซอ โซ อ่อง นักชีววิทยาภาคสนามของ FFI ที่จับภาพแพนด้าแดงได้ ระบุ
.
.
เทือกเขาอิมอบัม ในพื้นที่ห่างไกลทางตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐกะฉิ่น น่าจะเป็นจุดสำคัญของแหล่งแพนด้าแดง จากการสำรวจของ FFA พบว่า พื้นที่ดังกล่าวมีจำนวนแพนด้าแดงสูงกว่า ส่วนอื่นๆ ของแนวเทือกเขาหิมาลัยในพม่าที่พบสัตว์สายพันธุ์นี้ได้ยากมาก
กล้องกับดักของ FFI จับภาพการปรากฏตัวของแพนด้าแดงได้ทั่วทั้งภูเขาอิมอบัมในทุกการสำรวจภาคสนามตั้งแต่เริ่มครั้งแรกในปี 2551 จนถึงปัจจุบัน
แพนด้าแดง ถูกจัดอยู่ในบัญชีแดงของสหภาพเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ ในสถานภาพของสัตว์ป่าชนิดพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการสูญพันธุ์จากพื้นที่ธรรมชาติในอนาคต ด้วยจำนวนที่มีอยู่น้อยกว่า 10,000 ตัว ที่คาดว่ามีชีวิตรอดอยู่ในป่าตามแนวเทือกเขาหิมาลัยตะวันออก ตั้งแต่ด้านตะวันตกของเนปาลไปจนถึงจีน
การล่าและค้าสัตว์ป่า พร้อมกับการลักลอบตัดไม้ เป็นภัยคุกคามหลักต่อสัตว์สายพันธุ์นี้ในพม่า FFI จึงได้ริเริ่มโครงการอนุรักษ์แพนด้าแดง ในปี 2555 เพื่อตอบโต้ต่อภัยคุกคามดังกล่าว โครงการนี้กำลังทำงานเพื่อเพิ่มความตระหนักให้แก่คนท้องถิ่นเพื่อคุ้มครองสัตว์สายพันธุ์นี้ ขณะเดียวกัน ก็สนับสนุนให้กรมป่าไม้พม่า กำหนดเขตพื้นที่คุ้มครองขึ้นใหม่ คือ อุทยานแห่งชาติอิมอบัม พร้อมทั้งหารือกับชุมชนท้องถิ่นเพื่อกำหนดขอบเขตของอุทยานให้เสร็จก่อนสิ้นปีนี้ ที่จะทำให้สัตว์สายพันธุ์นี้ได้รับความคุ้มครองทางกฎหมาย
“เราหวังว่าการตั้งอุทยานแห่งชาติ รวมกับกฎหมายห้ามส่งออกไม้ของพม่าที่กำหนดขึ้นเมื่อไม่นานจะทำให้รัฐบาลจีนยุติการตัดไม้ในพม่า” แฟรงค์ มอมเบิร์ก ผู้อำนวยการ FFI ประจำพม่า กล่าว.