ASTVผู้จัดการออนไลน์ - สัปดาห์นี้ กองทัพอากาศอินเดียได้สั่งห้ามเครื่องบินรบแบบ Su-30MKI ทุกฝูงบินของกองทัพขึ้นบิน เพื่อตรวจเช็กด้านความปลอดภัยอย่างละเอียด หลังจากตกมาหลายลำในช่วงไม่กี่ปีมานี้ และลำล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว การถูกห้ามขึ้นบินเท่ากับว่า กองทัพอากาศของอินเดียขาดเครื่องบินรบไปราวหนึ่งในสาม
“ทั้งฝูงบินต้องจอด และแต่ละลำกำลังได้รับการตรวจสอบทางเทคนิคอย่างละเอียด หลังจากเหตุการณ์ล่าสุดที่เมืองปูเน เครื่องบินจะขึ้นบินได้อีกครั้งหนึ่งหลังมีการจตรวจเช็กอย่างละเอียดแล้วเท่านั้น” สื่อในอินเดียรายงานในวันพุธ อ้าง น.ท.สิมรานปาล สิงห์ เบอร์ดิ (Simranpal Singh Birdi) โฆษกกองทัพอากาศ ซึ่งแถลงเกี่ยวกับเรื่องนี้วันอังคาร 21 ต.ค.
ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ไทมส์ออฟอินเดีย กองทัพอากาศมีฝูงบิน Su-30MKI รวม 10 ฝูงจากทั้งหมด 44 ฝูง ซึ่งแต่ละฝูงมีจำนวนถึง 18 ลำ การถูกสั่งห้ามขึ้นบิน ทำให้เหลือเครื่องบิรนรบรุ่นอื่นๆ อยู่อีก 34 ฝูง
สัปดาห์ที่แล้ว Su-30MKI แบบ 2 เครื่องยนต์ 2 ที่นั่งลำหนึ่ง ตกลงใกล้สนามบินเมืองปูเน (Pune) ในรัฐมหารัศตรา (Maharashtra) ทางตะวันตกของประเทศ การสอบหาสาเหตุในเบื้องต้นเชื่อว่า เกิดจากปัญหาทางเทคนิค ระบบควบคุมการบินอิเล็กทรอนิกส์ “Fly-By-Wire” ขัดข้อง ซึ่งไม่เกี่ยวกับความบกพร่องของนักบินกับผู้ช่วย ซึ่งทั้ง 2 คนดีดตัวเองออกจากเครื่องได้อย่างปลอดภัย และการตรวจสอบในรายละเอียดยังดำเนินต่อไป
อย่างไรก็ตาม หนึ่งในสองคนนั้น เคยเกี่ยวข้องอยู่ในเหตุการณ์ที่ Su-30 อีกลำหนึ่งตกก่อนหน้านี้ ฮินดูสถานไทมส์กล่าว และครั้งล่าสุดนี้นับเป็นลำที่ 5 ตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา และกองทัพอากาศได้เคยสั่งห้ามขึ้นบินทั้งหมดมาแล้วถึง 2 ครั้งเช่นกัน เครื่องบินรบที่พัฒนาโดยรัสเซียนี้ เคยเป็นที่ภาคภูมิใจของชาวอินเดีย และปัจจุบันก็ยังเป็นเครื่องบินรบที่ไว้ใจได้มากที่สุดของกองทัพ
หลายปีมานี้ กองทัพอากาศได้ทยอยสั่งซื้อ Su-30MKI ซึ่งผลิต/ประกอบโดยบริษัทอุตสาหกรรมอากาศยานฮินดูสถาน (Hindustan Aeronautics Limited) ภายใต้สิทธิบัตรจากรัสเซีย เมื่อส่งมอบครบในช่วงปี 2561-2562 จะทำให้มีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นทั้งหมด 272 ลำ จำนวนที่เหลือทั้งหมดจะอัปเกรดขึ้นเป็น “ซูเปอร์ซูคอย” ติดตั้งระบบเรดาร์ ระบบอิเล็กทรอนิกส์ และระบบควบคุมอาวุธยุคใหม่ล่าสุดทั้งหมด
นอกจากนั้น Su-30MKI ยังเป็นเวอร์ชันที่ทันสมัย เนื่องจากติดเครื่องยนต์ที่มีระบบควบคุมทิศทางการเคลื่อนที่ของเครื่องบินได้ ซึ่งเรียกกันว่าระบบเว็คเตอริงคอนโทรล (Vectoring Control) หรือ Thrush Vectoring แบบเดียวกับ Su-30MKM ทั้ง 18 ลำของกองทัพอากาศมาเลเซีย
อินเดียยังมี MiG-29 ของรัสเซียรุ่นต่างๆ ในประจำการอีกกว่า 60 ลำ นอกจากนั้น บริษัทฮุนดูสถานฯ ยังเป็นหุ้นส่วนหนึ่งกับรัสเซียในการพัฒนาเครื่องรบยุคที่ 5 แบบ T-50PAKFA ในขณะนี้อีกด้วย
ปัจจุบัน Su-30 ในเวอร์ชันต่างๆ ยังเป็นกำลังหลักของกองทัพอากาศราว 30 ประเทศทั่งโลก รวมทั้งมาเลเซีย อินโดนีเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวียดนาม ซึ่งในปัจจุบันมี Su-30MK2 ประจำการ 20 ลำ ปลายปีที่แล้วเพิ่งเซ็นสัญญาซื้ออีก 12 ลำ ทั้งนี้ ยังไม่นับรวม Su-27 รุ่นพี่ที่มีอยู่อีก 11 ลำ.
.