เอเอฟพี - พระสงฆ์พม่าประกาศวันนี้ (28) ว่า กำลังติดต่อกับกลุ่มพระหัวรุนแรงในศรีลังกา โดยอ้างว่าศาสนาพุทธกำลังตกอยู่ในอันตรายจากภัยคุกคามสงครามศาสนาของชาวมุสลิม
พระวิระธู จากเมืองมัญฑะเลย์ของพม่า ได้กล่าวในที่ประชุมกองกำลังภิกษุ (BBS) กรุงโคลัมโบว่า พวกเขาจะทำงานร่วมกันเพื่อปกป้องศาสนาพุทธ
BBS ถูกกล่าวหาว่า ยุยงปลุกปั่นสร้างความเกลียดชังโจมตีชาวมุสลิม และชาวคริสต์ในศรีลังกา ประเทศที่คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ
“เพื่อปกป้องและป้องกันชาวพุทธทั่วโลกจากการถูกคุกคาม กลุ่มเคลื่อนไหว 969 ของเราจะร่วมมือกับ BBS” พระวิระธู กล่าวที่สนามกีฬาความจุ 5,000 ที่นั่ง ที่เต็มไปด้วยพระสงฆ์ และผู้สนับสนุน
พระวิระธู กล่าวว่า มุสลิมหัวรุนแรงพยายามที่จะขัดขวางการเดินทางมาศรีลังกาที่มีความเชื่อมโยงทางศาสนา และวัฒนธรรมใกล้ชิดกันกับพม่า และยังได้กล่าวขอบคุณประธานาธิบดีมหินทะ ราชปักษา ที่อนุญาตออกวีซ่าเดินทางแม้จะมีความพยายามขัดขวางการเดินทางจากบรรดามุสลิมหัวรุนแรงก็ตาม
“ชาวพุทธกำลังเผชิญกับภัยคุกคามร้ายแรงจากกลุ่มญิฮาด ความอดทนของชาวพุทธถูกมองว่าเป็นจุดอ่อน วัดพุทธถูกทำลาย มีการทำญิฮาดกับพระสงฆ์ องค์กรสื่อพร้อมกับอำนาจโลกกำลังใช้เทคโนโลยีรณรงค์ต่อต้านชาวพุทธ” พระวิระธู กล่าว
กลุ่ม BBS ถูกกล่าวหาว่ามีความเชื่อมโยงกับการโจมตีต่อต้านชาวมุสลิม และคริสเตียนที่เป็นคนกลุ่มน้อยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แม้กลุ่มได้ปฏิเสธความเกี่ยวข้องดังกล่าว แต่สมาชิกกลุ่มบางรายกลับพบปรากฏตัวอยู่ในวิดีโอที่โพสต์ลงบนเว็บไซต์สังคมออนไลน์ขณะที่มีส่วนร่วมในความรุนแรงกับสถานที่ทางศาสนาของชนกลุ่มน้อยรวมทั้งกิจการร้านค้าต่างๆ
ด้านรัฐบาลศรีลังกาได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาว่าให้การสนับสนุน BBS
ศรีลังกา ประสบกับเหตุรุนแรงทางศาสนาครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบหลายทศวรรษเมื่อเดือน มิ.ย. ที่เหตุจลาจลปะทุขึ้นในเมืองอลุธกามา และเมืองเวรูวาลา จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 4 คน
BBS ถูกกล่าวหาว่า ปลุกปั่นการโจมตีดังกล่าว แต่กลุ่มได้ปฏิเสธข้อกล่าวหานี้
สภามุสลิมศรีลังกาได้เตือนทางการว่า การอนุญาตให้พระวิระธูเดินทางมาศรีลังกาจะเป็นภัยคุกคามความสงบสุขในประเทศ
ภิกษุผู้นำกลุ่ม BBS ที่ถูกเปรียบได้กับพระวิระธู ที่ถูกกล่าวหาว่ากระพือความตึงเครียดระหว่างชาวพุทธ และมุสลิมในพม่า กล่าวว่า ทั้งคู่เป็นสงฆ์สันติที่ไร้เลือดเปื้อนมือ
การปะทะกันในพม่าระหว่างชาวพุทธ และมุสลิมทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 250 คน และไร้ที่อยู่อีกนับหมื่นคน นับตั้งแต่การต่อสู้ปะทุขึ้นในรัฐยะไข่ในปี 2555.