ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ไต้ฝุ่นคัลแมกี (Kalmaegi) เคลื่อนตัวผ่านตอนเหนือของเกาะลูซอนในฟิลิปปินส์ตอนเช้าตรู่วันจันทร์ 15 ก.ย.นี้ เข้าสู่ส่วนตะวันออกของทะเลจีนใต้ เริ่มต้นการเดินทางข้ามน่านน้ำแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีปลายทางที่ภาคเหนือเวียดนาม และลาวตามที่คาดเอาไว้ ทิศทางการเคลื่อนตัวเฉขึ้นไปทางตะวันตกเฉียงเหนือเล็กน้อย ซึ่งถ้าหากเป็นไปตามนี้ อิทธิพลต่อภาคตะวันออกเฉียงเหนือกับภาคเหนือของไทย ก็จะลดน้อย .. แต่ยังไม่มีอะไรแน่นอน ทุกอย่างยังเกิดขึ้นได้เสมอในช่วง 3-4 วันข้างหน้า
ภาพดาวเทียมที่เผยแพร่โดยหน่วยอุตุนิยมวิทยากองทัพเรือสหรัฐฯ เช้าวันนี้ แสดงให้เห็นไต้ฝุ่นลูกมหึมาที่เพิ่งเดินทางข้ามเกาะเหนือของฟิลิปปินส์ กำลังตวัดหางนำเอาน้ำขึ้นคละคลุ้ง เป็นทางยาวเหนือทะเลจีนใต้ ในขณะปั่นความเร็วใกล้ศูนย์กลางขึ้นเป็น 134-149 กิโลเมตรต่อชั่งโมง เป็นไต้ฝุ่นระดับ 2 ขณะอยู่ห่างจากเกาะพาราเซลราว 600 กม. และ ทำให้ทะเลใหญ่แห่งนี้ปั่นป่วน
คัลแมกี “นางนวล” ตามความหมายของชื่อในภาษาเกาหลีเหนือ ขึ้นฝั่งเกาะลูซอนตอนค่ำวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ทำให้เกิดฝนตกหนักทั่วเกาะใหญ่ ลงไปจนถึงย่านวิซายาส (หมู่เกาะภาคกลาง) ทางการกว่า 20 จังหวัดอพยพราษฎรออกจากพื้นที่เสี่ยงต่างๆ ให้พ้นจาก “สตอร์มเซิร์จ” ที่ทำให้เกิดคลื่นสูง 6.5-7 เมตร สำนักงานอุตุนิยมวิทยาฟิลิปปินส์รายงานในคืนที่ผ่านมา
คัลแมกี ทำให้ไฟฟ้าดับในหลายพื้นที่ของเกาะลูซอน เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก ตามเส้นทางที่เคลื่อนตัวผ่าน และใต้ลงไปในอ่าวมะนิลา มีเรือเฟอร์รีจมอีก 1 ลำ ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต หรือบาดเจ็บในเช้าวันจันทร์นี้ สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน
ศูนย์อุตุนิยมวิทยาและอุทกศาสตร์กลางในกรุงฮานอย กล่าวว่า ในช่วง 24 ชั่วโมงข้างหน้า คัลแมกี ยังจะเคลื่อนตัวไปในแนวตะวันตกเฉ๊ยงเหนือ ด้วยความเร็วระหว่าง 25-30 กม./ชม. หรือกว่านั้น และกำลังทำให้เกิด “แรงช็อก” ระดับสูงสุดคือ 15-16 ซึ่งหมายถึงความปั่นป่วนของท้องทะเลที่เกิดจากอิทธิพลของไต้ฝุ่นลูกนี้ ก่อนจะค่อยๆ อ่อนกำลังลงในระยะะ 24-48 ชั่วโมงข้างหน้า กลายสภาพเป็นพายุโซนร้อนลูกใหญ่ และยังคงเคลื่อนตัวตามแนวเดิมต่อไปด้วยความเร็ว 20-25 กม./ชม.
อย่างไรก็ตาม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กับภาคเหนือเวียดนาม จะเริ่มได้รับอิทธิพลรุนแรงจากไต้ฝุ่นตั้วแต่เช้าวันอังคาร 16 ก.ย. นี้เป็นต้นไป โดยจะมีคลื่นสูงถาโถมเข้ากระทบชายฝั่งลง ตลอดแนว 3,000 กม. เหนือลงไปจดตอนใต้สุดที่แหลมก่าเมา ศูนย์อุตุนิยมวิทยาฯ ในกรุงฮานอยได้เตือนเรือหาปลาไม่ให้ออกจากฝั่งในช่วงนี้ และทางการท้องถิ่นต่างๆ ติดตามข่าวพยากรณ์อากาศอย่างใกล้ชิด.
.
2
3
4
5