ASTVผู้จัดการออนไลน์ - นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2545 เป็นต้นมา จนถึงปี 2554 มีชาวลาวทั่วประเทศถูกสุนัขกัดเป็นจำนวนกว่า 80,000 คน และสุนัขเป็นสัตว์เลี้ยงที่กัดเจ้าของมากที่สุดในประเทศ ทั้งนี้ เป็นสถิติอย่างเป็นทางการที่เปิดเผยโดยกระทรวงสาธารณสุข ในโอกาสที่ สปป.ลาว จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในวันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าระหว่างประเทศ ปลายเดือนนี้
นายแพทย์ลัดสะหมี วงคำซาว หัวหน้ากรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยอีกว่า ในช่วงเดียวกันนั้นประชาชนลาวทั่วประเทศถูกสัตว์เลี้ยงทุกชนิดกัด รวมกันเป็นทั้งหมดกว่า 90,000 คน แม้ว่าตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จะมีผู้ป่วยด้วยโรคพิษสุนัขบ้าเสียชีวิตเพียง 2 คนก็ตาม แต่จำนวนผู้ที่ถูกสุนัข กับสัตว์เลี้ยงกัด คิดเป็นอัตราต่อปีที่สูงมาก ทำให้กระทรวงฯ ต้องให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้
นพ.ลัดสะหมี กล่าวระหว่างร่วมแถลงข่าวต่อผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงกสิกรรมและป่าไม้ ผู้แทนจากแขวง (จังหวัด) ต่างๆ และผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำลาวในสัปดาห์นี้ เกี่ยวกับการประชุมเนื่องใน “วันว้อโลก” ซึ่งตรงกับวันที่ 28 ก.ย.ของทุกปี
ตามสถิติขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization) โรคพิษสุนัขบ้าพบในกว่า 150 ประเทศ กับดินแดนทั่วโลก และพบในทุกทวีป โดยเฉพาะอย่างยิ่งแอฟริกากับเอเชีย และยกเว้นทวีปแอนตาร์กติก ทุกปีจะมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) กว่า 5,500 คน ซึ่งไม่เพียงแต่ติดต่อจากสุนัขเท่านั้น สัตว์อื่นๆ ที่เป็นพาหะนำเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้า ยังรวมทั้งค้างคาว แร็กคูน สกังก์ และสุนัขจิ้งจอกด้วย
อาการเริ่มแรกของโรคพิษสุนัขบ้าไม่ค่อยปรากฏชัดจน และมักจะทำให้เข้าใจผิดเป็นอาการของโรคชนิดอื่นที่มีความรุนแรงน้อยกว่า เช่น อาการมีไข้สูง ปรอทพุ่งขึ้นสูงถึง 38 องศา อาการหนาวสั่น อ่อนเพลียอย่างรุนแรง มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ เบื่ออาหาร ปวดศีรษะรุนแรง อาการทุรนทุราย หวาดวิตก เจ็บคอ รวมทั้งอาเจียนด้วย
ชาวลาวเรียกสุนัขบ้าว่า “หมาว้อ” และเรียกโรคพิษสุนัขบ้า หรือโรคกลัวน้ำ ว่า “โรคว้อ”.