xs
xsm
sm
md
lg

พิษสุนัขบ้าทำตายแล้ว 3 ราย เตือนผู้ปกครองระวังลูกเล่นกับ “หมา-แมว”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

กรมควบคุมโรค เตือนผู้ปกครองดูแลเด็กช่วงปิดเทอม ระวังถูก “หมา-แมว” ข่วนกัด เสี่ยงติดเชื้อพษสุนัขบ้า เผยตั้งแต่ต้นปีตายแล้ว 3 ราย เหตุไม่ไปรับวัคซีนป้องกัน รับวัคซีนไม่ครบ

วันนี้ (23 มี.ค.) นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า ช่วงอากาศร้อนขอเตือนให้ประชาชนระมัดระวังโรคพิษสุนัขบ้า โดยเฉพาะในเด็ก เนื่องจากช่วงนี้เป็นช่วงปิดเทอม ผู้ปกครองควรดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด หากอยู่บ้านเล่นกับสุนัข แมว หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ ให้ระมัดระวังอาจถูกกัด หรือข่วน รวมถึงไม่ไปแหย่สุนัขไม่มีเจ้าของ จากข้อมูลเฝ้าระวังโรค สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-1 มีนาคม 2559 พบผู้ป่วย 3 ราย จาก 3 จังหวัด เสียชีวิตทั้ง 3 ราย จังหวัดที่พบผู้เสียชีวิตคือ ระยอง สมุทรปราการ และสงขลา สาเหตุส่วนใหญ่ของการเสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าเกิดจากการถูกสุนัข หรือแมวกัดหรือข่วน ซึ่งผู้เสียชีวิตไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า หรือรับการฉีดวัควีนไม่ครบชุด และไม่มีการล้างแผล หรือปฐมพยาบาลก่อนพบแพทย์ เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสสัมผัสโรคมากที่สุด และแม้ว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จะพบผู้เสียชีวิตน้อยกว่า 10 รายต่อปี แต่ยังมีการพบเชื้อในสัตว์เป็นจำนวนมาก

นพ.อำนวย กล่าวว่า โรคพิษสุนัขบ้า หรือโรคกลัวน้ำ เกิดจากเชื้อไวรัสเรบี่ส์ ที่เกิดได้กับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด เช่น สุนัข แมว หนู กระรอก กระต่าย ลิง ค้างคาว เป็นต้น แต่ในประเทศไทยมักพบในสุนัขมากที่สุด การติดเชื้อจะเกิดจากการถูกสัตว์ที่มีเชื้อไวรัสเรบี่ส์กัด ข่วน หรือน้ำลายกระเด็นเข้าทางตา ปาก หรือบาดแผลตามร่างกาย เชื้อจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นบริเวณที่โดนกัด หรือข่วน จากนั้นจะเข้าสู่ระบบประสาท เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายจนกระทั่งเกิดอาการของโรค ส่วนใหญ่จะใช้เวลาประมาณ 2-8 สัปดาห์ แต่อาจสั้นเพียงแค่ 7 วัน หรือยาวเกินกว่า 1 ปี ส่วนอาการของโรคพิษสุนัขบ้า เริ่มจาก 2-3 วันแรกผู้ป่วยจะเบื่ออาหาร ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว มีไข้ ชา เจ็บเสียว หรือปวดบริเวณรอยแผลที่ถูกกัด คันอย่างรุนแรงที่แผล และลำตัว ต่อมา จะมีอาการกระสับกระส่าย กลัวแสง กลัวลม ไม่ชอบเสียงดัง เพ้อเจ้อ กลืนลำบาก โดยเฉพาะของเหลว กลัวน้ำ และกล้ามเนื้อขากระตุก แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก หรืออาจชัก เกร็ง อัมพาต หมดสติ และตายในที่สุด

“การป้องกันโรค ขอแนะนำให้ระมัดระวังการสัมผัสสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะลูกสุนัข และเฝ้าระวังเด็กๆ ไม่ให้เล่นกับสัตว์ที่ไม่คุ้นเคย นอกจากนี้ ควรนำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเป็นประจำทุกปี ที่สำคัญต้องขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยง และเลี้ยงสุนัขอย่างรับผิดชอบ และรู้จักวิธีป้องกันไม่ให้สุนัขกัดหรือทำร้าย ด้วย คาถา 5 ย. “อย่าแหย่ อย่าเหยียบ อย่าแย่ง อย่าหยิบ อย่ายุ่ง กับสุนัขที่ไม่ปรากฏเจ้าของ หรือไม่ทราบประวัติ” จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า และขอเชิญชวนให้ประชาชนนำสุนัข และแมวไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า หากโดนสุนัข หรือแมวกัด ควรรีบล้างแผลให้สะอาดด้วยน้ำ และสบู่หลายๆ ครั้ง แล้วเช็ดแผลให้แห้งและใส่ยาฆ่าเชื้อ และรีบไปพบแพทย์ โรคพิษสุนัขบ้านั้นไม่มีทางรักษาให้หายได้ หากติดเชื้อและมีอาการแล้ว จะเสียชีวิตทุกราย และหากพบเห็นสัตว์ที่สงสัยว่าอาจเป็นโรคพิษสุนัขบ้า คือมีอาการหางตก เดินโซเซ น้ำลายย้อย ลิ้นห้อย ตาขวาง ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ หรือผู้นำชุมชน และให้ช่วยกันจับ” อธิบดี คร. กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น