เอเอฟพี - แผนของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่จะรวมตัวกันเป็นตลาดเดียวดังเช่นสหภาพยุโรปในปีหน้า อาจทำให้ปัญหาความไม่เท่าเทียมกันเลวร้ายลง และดูเหมือนจะเอื้อประโยชน์ต่อผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ผลการศึกษาล่าสุดระบุ
สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) กำหนดให้ปี 2558 เป็นเป้าหมายที่จะสร้างตลาดเศรษฐกิจเดียวของกลุ่ม 10 ประเทศสมาชิก ที่เป็นบ้านของประชากรราว 600 ล้านคน
เป้าหมายดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ที่จะปรับปรุงการไหลเวียนของสินค้า บริการ การลงทุน และแรงงานทั่วภูมิภาค ซึ่งกลุ่มอำนาจทางเศรษฐกิจต้องเผชิญต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์ยาวนานต่อความล้มเหลวในการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ
การเป็นตลาดเดียวสามารถเพิ่มตำแหน่งงานใหม่ขึ้นอีก 14 ล้านตำแหน่ง และส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคได้ 7.1% ต่อปี ภายในปี 2568 ตามการศึกษาร่วมกันขององค์การแรงงานระหว่างประเทศของสหประชาชาติ และธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย
อย่างไรก็ตาม รายงานยังระบุเตือนว่า ประโยชน์ที่ได้อาจไม่กระจายอย่างเท่าเทียม และแผนการเป็นตลาดเดียวอาจเพิ่มช่องว่างระหว่างคนรวย และคนจนทั่วภูมิภาคให้กว้างขึ้นกว่าเดิม
“หากไม่จัดการอย่างเด็ดขาด สิ่งนี้สามารถเพิ่มความไม่เท่าเทียมกัน และทำให้การขาดดุลของตลาดแรงงานที่มีอยู่แล้วเลวร้ายลง เช่น การจ้างงานนอกระบบ และการทำงานที่มีค่าแรงต่ำ” การศึกษา ระบุ
ผลการศึกษายังเรียกร้องให้ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พัฒนานโยบายที่สนับสนุนการพัฒนาอย่างรอบด้าน และเป็นธรรม และปรับปรุงการคุ้มครองสังคม
การศึกษายังพบว่า สัดส่วนของงานใหม่สำหรับผู้หญิงทั่วภูมิภาคจะมีน้อยกว่าสำหรับผู้ชาย
นักเศรษฐศาสตร์ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ และนักวิจัยที่ทำการศึกษาระบุว่า สิ่งนี้เป็นผลจากภาคส่วนที่มีแนวโน้มจะถูกผลักดันจากการรวมกลุ่ม อย่างเช่น การก่อสร้าง และการขนส่ง
การศึกษาพบว่า การรวมกลุ่มจะเป็นประโยชน์ต่อกัมพูชา รวมทั้งประเทศรายได้ต่ำอื่นๆ ขณะที่อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจชั้นนำของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะได้รับผลกระทบหนักที่สุด
การเติบโตทางเศรษฐกิจอันน่าประทับใจของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ช่วยสร้างแรงงานชนชั้นกลางกลุ่มใหม่หลายล้านคน และดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติเข้ามายังภูมิภาค แต่ช่องว่างความมั่งคั่งกลับใหญ่มากภายในกลุ่มอาเซียน ที่ประกอบด้วยประเทศร่ำรวยเช่น สิงคโปร์ ประเทศที่มีรายได้ปานกลางเช่น อินโดนีเซีย และมาเลเซีย และประเทศที่มีรายได้ต่ำ เช่น กัมพูชา และพม่า.