เอเอฟพี - สื่อสิงคโปร์รายงานวันนี้ (5 พ.ค.) ว่า นครรัฐแห่งนี้มีแผนสร้างศูนย์นันทนาการเพิ่มในแถบชานเมือง เพื่อดึงบรรดาแรงงานข้ามชาติให้อยู่นอกตัวเมือง หลังจากเกิดเหตุจลาจลขึ้นในชุมชนลิตเติลอินเดียอันแออัดเมื่อปีที่แล้ว
ศูนย์นันทนาการซึ่งต้องอาศัยงบประมาณหลายล้านดอลลาร์เหล่านี้นับเป็นมาตรการล่าสุดของรัฐบาลสิงคโปร์ เพื่อใช้จัดระเบียบพื้นที่อาศัยของแรงงานต่างชาติ ภายหลังคนงานชาวเอเชียใต้ลุกขึ้นก่อเหตุรุนแรงเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม ปีที่แล้ว จนทำให้มีผู้บาดเจ็บ 39 ราย และยานพาหนะได้รับความเสียหายถึง 25 คัน
หนังสือพิมพ์ “สเตรตส์ไทมส์” ของสิงคโปร์รายงานว่า จะมีการสร้างศูนย์นันทนาการเพิ่มอีก 4 แห่ง ถัดจากหอพักแรงงานในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งอยู่ห่างจากใจกลางนครรัฐ เพื่อเป็นสถานที่รวมตัวของแรงงานในช่วงวันหยุด
หนังสือพิมพ์ฉบับนี้รายงาน โดยอ้างข้อมูลจากเอกสารแผนงานที่ระบุว่า ศูนย์นันทนาการเหล่านี้จะมี “พื้นที่โดยรวมกว้างกว่าสนามฟุตบอล 9 สนาม” และจะเป็นที่ตั้งของสิ่งอำนวยความสะดวกในการกีฬาต่างๆ เป็นต้นว่า สนามคริกเก็ต สนามฟุตบอล และสนามบาสเกตบอล ตลอดจนมีซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านอินเทอร์เน็ตไว้ให้บริการ
ในปัจจุบันมีศูนย์นันทนาการในลักษณะนี้อยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมแล้ว 4 แห่ง
เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ตัน ชวน-จิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานสิงคโปร์ได้เปิดตัวศูนย์นันทนาการแห่งแรก หลังเกิดเหตุจลาจลขึ้นในย่านลิตเติลอินเดีย ซึ่งทำให้ทั่วโลกหันมาจับตามองวิธีการที่นครรัฐอันมั่งคั่งแห่งนี้ใช้ควบคุมจัดการแรงงานต่างชาติค่าแรงต่ำที่มีเกือบ 1 ล้านคน
ทั้งนี้ สิงคโปร์มีประชากรทั้งหมด 5.4 ล้านคน แต่ในจำนวนดังกล่าวมีเพียง 3.84 ล้านคนเท่านั้นที่เป็นพลเมืองและบุคคลผู้มีถิ่นที่อยู่ถาวร
คาดกันว่า ความแออัดยัดเยียดในย่านลิตเติลอินเดียอันเป็นสถานที่เกิดเหตุจลาจลเมื่อปีที่แล้ว เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้สถานการณ์ลุกลามบานปลายจนเกินควบคุม กอปรกับความเป็นไปได้ที่ผู้ก่อเหตุชุลมุนมีอาการเมาสุรา
รัฐบาลสิงคโปร์ได้ออกกฎห้ามดื่มสุราชั่วคราวในพื้นที่ซึ่งโดยปกติแล้ว แรงงานอพยพชาวเอเชียใต้จะมารวมตัวกันในช่วงสุดสัปดาห์เพื่อซื้อข้าวของ รับประทานอาหารเย็น และดื่มสุราร่วมกัน
โจโลวาน วาม นักเคลื่อนไหวเพื่อคุ้มครองสิทธิแรงงานชี้ว่า ถึงแม้แรงงานข้ามชาติอาจได้รับประโยชน์จากศูนย์นันทนาการแห่งใหม่ แต่ “เจตนาที่อยู่เบื้องหลังแผนนี้ยังเป็นที่น่าเคลือบแคลง”
“การจัดตั้งศูนย์นันทนาการและสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อสังคมควรมีขึ้นเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของคนในชุมชน ไม่ใช่ด้วยเหตุผลที่ว่า (แรงงาน) เป็นภัยคุกคามต่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคม” วาม ผู้อำนวยการบริหารขององค์การมนุษยธรรมเพื่อเศรษฐศาสตร์การย้ายถิ่นกล่าวกับเอเอฟพี
เขาตั้งข้อสังเกตว่า “การใช้วิธีนี้จัดการแรงงานข้ามชาติค่าแรงต่ำเป็นการปฏิบัติที่เป็นแบบแผนของรัฐบาลสิงคโปร์ แรงงานต่างชาติที่ได้รับค่าตอบแทนต่ำทุกคนจะได้รับการปฏิบัติเยี่ยงบุคคลที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ”
วาม และนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิคนอื่นๆ กล่าวว่า ความขุ่นเคืองใจอย่างรุนแรงที่ปะทุในหมู่แรงงาน ในประเด็นการจ้างงานและสภาพความเป็นอยู่อาจเป็นปัจจัยร่วมที่จุดชนวนให้เกิดเหตุจลาจลเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่รัฐบาลสิงคโปร์ออกมาค้านหัวชนฝา
ในเหตุการณ์ครั้งนั้น ทางการได้ผลักดันแรงงานกว่า 50 คนกลับประเทศ ขณะที่คนงานสัญชาติอินเดีย 25 คนถูกตัดสินจำคุก หรือรอการตั้งข้อก่อเหตุจลาจล