รอยเตอร์ - เจ้าหน้าที่ชาวลาวเผยว่า รัฐบาลลาวจะอนุญาตให้ดำเนินการศึกษาประเมินด้านสิ่งแวดล้อมก่อนลงมือก่อสร้างเขื่อบนแม่น้ำโขง ที่นักเคลื่อนไหว และประเทศเพื่อนบ้านระบุว่า อาจส่งผลกระทบต่อวิถีความเป็นอยู่ของชาวประมง และเกษตรกร
ลาวเดินหน้าสร้าง เขื่อนไซยะบุรี ที่มีขนาดใหญ่กว่ามาก แม้จะมีเสียงคัดค้านจากเวียดนาม และกัมพูชา แต่กลับมีแนวโน้มที่เป็นมิตรเกี่ยวกับการสร้างเขื่อนดอนสะโฮง ในที่ประชุมคณะมนตรีคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ในกรุงเทพฯ
เจ้าหน้าที่จากไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม เห็นชอบร่วมกันเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ในการให้คำปรึกษาสำหรับการก่อสร้างเขื่อนที่ยังคงอยู่ในขั้นตอนของการวางแผน
รัฐมนตรีช่วยกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ของลาว กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า การก่อสร้างจะยังไม่เริ่มต้นขึ้นในช่วงระหว่างกระบวนการให้คำปรึกษาเป็นระยะเวลา 6 เดือน
เขื่อนดอนสะโฮง เป็นเขื่อนไฟฟ้าแห่งที่ 2 จากทั้งหมด 11 แห่ง ที่วางแผนสร้างบนแม่น้ำโขงสายหลัก และเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายการเป็นแบตเตอรี่ของภูมิภาคของลาว
เขื่อนดอนสะโฮง จะผลิตไฟฟ้าได้ 260 เมกะวัตต์ โดยไฟฟ้าที่ผลิตได้ส่วนใหญ่จะส่งไปยังไทยและกัมพูชา เทียบกับเขื่อนไซยะบุรี ที่ผลิตไฟฟ้าได้ 1,260 เมกะวัตต์
ผู้อำนวยการโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขององค์กรแม่น้ำนานาชาติระบุว่า รู้สึกยินดีต่อการตัดสินใจดังกล่าว พร้อมเสริมว่า การดำเนินการข้างหน้าจำเป็นต้องให้แน่ใจว่าความคืบหน้าอย่างรวดเร็วของการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงจะได้รับการตรวจสอบ
โครงการเขื่อนของลาว สร้างความวิตกเกี่ยวกับการรบกวนการอพยพของปลา รวมทั้งความเป็นอยู่ของชาวประมงหลายแสนคน ซึ่งเจ้าหน้าที่ลาวระบุว่า ลาวกำลังจัดการกับปัญหาข้อวิตกเหล่านั้น
“ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเขื่อนดอนสะโฮง ไม่ว่าจะเป็นความล่าช้า หรือยุติการก่อสร้าง เราก็ยังคงที่จะปรับปรุงการอพยพของปลาเพราะเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้อุตสาหกรรมปลาในลาวมีความยั่งยืน” เจ้าหน้าที่ลาว กล่าว
ลาวตกลงที่จะดำเนินการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม และอื่นๆ ในการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรี หลังถูกกดดันจากประเทศเพื่อนบ้าน แต่ก็ยังเดินหน้าก่อสร้างไปพร้อมกับการดำเนินการศึกษา ในปัจจุบัน เขื่อนไซยะบุรี ก่อสร้างคืบหน้าไปแล้ว 40% และเป็นไปตามแผนที่กำหนด.