เอเอฟพี - แบรนด์เสื้อผ้าสัญชาติอเมริกัน “Gap” จะกลายเป็นผู้ค้าปลีกจากสหรัฐฯ รายแรกที่มีแผนจะผลิตสินค้าในพม่า สถานทูตสหรัฐฯ ในนครย่างกุ้งเผย เป็นเวลากว่าทศวรรษหลังมาตรการคว่ำบาตรที่มีต่ออดีตรัฐบาลเผด็จการทหาร ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมสิ่งทอของประเทศ
สถานทูตสหรัฐฯ เผยว่า สินค้าที่ผลิตจากโรงงานในนครย่างกุ้ง 2 แห่ง จะนำไปจัดจำหน่ายที่ร้านสาขาของ Gap ในช่วงฤดูร้อนนี้ ซึ่งนับเป็นสัญญาณล่าสุดของความสนใจจากนานาประเทศที่เพิ่มมากขึ้นต่อพม่าที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
มาตรการคว่ำบาตรส่วนใหญ่ของตะวันตกที่มีต่อพม่าถูกยกเลิกลง ตอบสนองการดำเนินการปฏิรูปประชาธิปไตยในหลากหลายด้านที่เริ่มขึ้นในปี 2554
“อุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูปพร้อมที่จะกลายเป็นแหล่งงาน การส่งออก และโอกาสสำหรับประชาชนในประเทศ ด้วยการผลิตสินค้าจากโรงงาน 2 แห่ง ในนครย่างกุ้ง บริษัท Gap Inc. กลายเป็นผู้ค้าปลีกสหรัฐฯ รายแรกที่เข้ามาในตลาดพม่า” สถานทูตสหรัฐฯ ระบุในคำแถลงฉบับหนึ่ง
Gap จะดำเนินการร่วมกับองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (USAID) ในโครงการที่จะพัฒนาทักษะแรงงานหญิงในอุตสาหกรรมสิ่งทอที่มีอยู่เป็นจำนวนมากของพม่า
วิลมา วอลเลซ รองประธานบริษัท Gap กล่าวว่า การเข้ามาในพม่านั้น บริษัทหวังที่จะช่วยเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจ และสังคมในประเทศ ปรับปรุงสภาพการทำงาน และเสริมสร้างความสามารถของคนท้องถิ่นในโรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปทั่วโลก
พม่า ถูกทิ้งให้ยากจนหลังเศรษฐกิจไม่ได้รับการจัดการที่ดีอยู่เป็นเวลานานหลายทศวรรษภายใต้การปกครองของอดีตรัฐบาลเผด็จการทหาร รวมทั้งมาตรการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตกที่มีขึ้นเพื่อประท้วงการละเมิดสิทธิมนุษยชนอันเลวร้ายของรัฐบาล
การส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูป ที่เคยมีมูลค่าสูงสุดถึง 850 ล้านดอลลาร์ ในปี 2544 ลดลงหลังสหรัฐฯ ออกมาตรการคว่ำบาตรรุนแรงในปี 2546 เพื่อเป็นการประท้วงรัฐบาลทหารที่ควบคุมตัวนางอองซานซูจี
แต่รัฐบาลกึ่งพลเรือนที่เข้ามาสู่อำนาจเมื่อ 3 ปีก่อน ได้ดำเนินการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงในหลากหลายด้าน รวมทั้งการต้อนรับนางซูจี และพรรคฝ่ายค้านเข้าสู่รัฐสภา
การปฏิรูปได้สร้างความหวังของการลงทุนในประเทศที่อุดมด้วยทรัพยากรของประชากรกว่า 60 ล้านคน
บริษัทของสหรัฐฯ ที่รวมทั้งผู้ผลิตเครื่องดื่มอย่าง Coca Cola และ Pepsi และผู้ผลิตรถยนต์ Chevrolet และ Ford ได้เข้ามาตั้งกิจการในพม่า เมื่อการส่งออกไปยังพม่าขยับขึ้นจาก 9.8 ล้านดอลลาร์ ในปี 2553 เป็น 145.7 ล้านดอลลาร์ในปี 2556
ในส่วนที่สหรัฐฯ นำเข้าจากพม่านั้นก็เริ่มเติบโตขึ้น จากศูนย์ในปี 2555 เป็น 30.1 ล้านดอลลาร์ในปีก่อน
คำแถลงของสถานทูตสหรัฐฯ ที่เผยแพร่หลังการลงนามหุ้นส่วน USAID เมื่อวันเสาร์ ระบุว่าเพิ่มเติมว่า บริษัท Gap จะทำให้แน่ใจว่าโรงงานจะได้รับการยอมรับในระดับสากลทั้งมาตรฐานแรงงาน และสิทธิมนุษยชน
อุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปตกเป็นจุดสนใจในภูมิภาคเอเชียในช่วงไม่กี่ปีมานี้ เนื่องจากประเด็นปัญหาเกี่ยวกับสิทธิแรงงาน และความปลอดภัย
การปราบปรามอย่างรุนแรงต่อแรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผละงานประท้วงในกัมพูชาเมื่อไม่นานนี้ สร้างความวิตกเกี่ยวกับภาคส่วนดังกล่าว ที่มีการจ้างงานแรงงานกว่า 650,000 คนในประเทศ และจัดส่งเสื้อผ้าให้แก่แบรนด์ดังของตะวันตก ที่รวมทั้ง Gap H&M Puma และ Levi's.