เอเอฟพี - รายงานฉบับใหม่ของกองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) เผยว่า นับตั้งแต่ปี 2555 นักวิทยาศาสตร์สามารถระบุสิ่งมีชีวิตใหม่ได้ถึง 367 ชนิด ในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขง ตั้งแต่ค้างค้าวหลังค่อม ไปจนถึงกระรอกบินยักษ์
แต่เนื่องจากการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน และความต้องการเนื้อสัตว์ป่า และไม้หายาก เกือบทั้งหมดของสิ่งมีชีวิตที่ค้นพบใหม่มีแนวโน้มที่จะถูกคุกคามในเร็ววันนี้ WWF ระบุเตือน
ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีสัดส่วนการคุกคามสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยอยู่บนบกสูงกว่าภูมิภาคอื่นๆ บนโลก โทมัส เกรย์ ผู้เชี่ยวชาญของ WWF กล่าว
หนึ่งในสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ที่ค้นพบ เช่น กระรอกบินยักษ์ ถูกพบอยู่ในตลาดค้าเนื้อสัตว์ป่าในลาว และยังไม่ได้ถูกบันทึกไว้ในป่า
“สิ่งนี้ย้ำให้เห็นถึงชะตากรรมของสิ่งมีชีวิตหลายชนิดที่กำลังเผชิญอยู่ในภูมิภาคนี้” โทมัส เกรย์ กล่าว
รายงานระบุว่า การค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายมีมูลค่าอย่างน้อย 16,000 ล้านดอลลาร์ต่อปีในเวลานี้
“การค้าสัตว์ป่าถูกขับเคลื่อนจากทั้งการบริโภคในท้องถิ่น และความต้องการสินค้าหรูหราจากสัตว์ป่าในตลาดโลก ซึ่งเป็นหนึ่งในภัยคุกคามที่ใหญ่ที่สุดต่อความหลากหลายทางชีวภาพทั่วทั้งภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง” รายงาน WWF ระบุ
สิ่งมีชีวิต 367 ชนิด ถูกบันทึกได้ในปี 2555 และปี 2556 ในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ที่ประกอบด้วย ไทย กัมพูชา พม่า เวียดนาม ลาว และมณฑลหยุนหนัน ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน โดยในรายชื่อการค้นพบนั้น ส่วนใหญ่เป็นพันธุ์พืช และยังประกอบด้วย ปลา 24 ชนิด สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ 21 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 28 ชนิด นก 1 ชนิด และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 3 ชนิด
นักวิจัยพบ “ค้างคาวค่อมแห่งเวียดนาม” ในอุทยานแห่งชาติกั๊ตบ่า ใกล้กับอ่าวฮาลอง ที่เป็นแหล่งมรดกโลก
ส่วนสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใหม่อื่นๆ ยังรวมทั้ง ตุ๊กแกดิ่งพสุธา จิ้งเหลนสีรุ้ง งูน้ำคาดหน้ากาก และปลาตัวจิ๋วที่มีอวัยวะสืบพันธุ์อยู่หลังปาก เป็นต้น
WWF ระบุว่า ภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเป็นส่วนหนึ่งของ 1 ใน 5 พื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพที่ถูกคุกคามมากที่สุดในโลก.