เอเอฟพี - พระหัวรุนแรงในพม่า เรียกร้องให้ประชาชนในประเทศคว่ำบาตรบริษัทอูรีดู (Ooredoo) ด้วยเหตุผลว่า บริษัทผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคมรายนี้มาจากประเทศกาตาร์ ที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม แม้บริษัทให้คำมั่นที่จะส่งเสริมการเข้าถึงโทรศัพท์มือถือในราคาที่ประชาชนสามารถจ่ายได้
บริษัทอูรีดู และบริษัทเทเลนอร์ ของนอร์เวย์ กำลังจะวางจำหน่ายซิมการ์ดราคาถูกในปีนี้ หลังจากโทรศัพท์ภายใต้การปกครองของรัฐบาลเผด็จการทหารมีราคาสูงมาก จนทำให้มีประชาชน 9 ใน 10 คนไม่มีโทรศัพท์ใช้
แต่บริษัทต่างชาติรายนี้เข้ามาในช่วงที่พม่ามีการเคลื่อนไหวชาตินิยมชาวพุทธนำโดยพระหัวรุนแรง ที่เรียกร้องให้คว่ำบาตรร้านค้าของชาวมุสลิม และเสนอกฎหมายควบคุมเสรีภาพทางศาสนาซึ่งกำลังเป็นที่ถกเถียง
“เราต้องการให้ชาวพุทธซื้อสินค้าจากร้านค้าที่เจ้าของเป็นชาวพุทธ กำไรควรอยู่ในศาสนาของเรา” พระปามุขะ ที่กำลังรณรงค์การต่อต้านบริษัท กล่าว
พระสงฆ์รูปนี้ระบุว่า กลุ่มของตนประณามรัฐบาลพม่าที่ออกใบอนุญาตให้บริษัทอูรีดู
บริษัทอูรีดู วางแผนที่จะขายซิมการ์ดในราคาที่ไม่สูงกว่า 1,500 จ๊าต (1.50 ดอลลาร์) หรือแค่ประมาณ 1 ในพันของราคาสูงสุดที่ขายในสมัยอดีตรัฐบาลทหาร
การวางจำหน่ายจะเริ่มในเมืองใหญ่ของประเทศคือ นครย่างกุ้ง เมืองมัณฑะเลย์ และกรุงเนปีดอ ตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปีนี้
โฆษกของบริษัทอูรีดู กล่าวว่า บริษัทเชื่อว่าทุกคนเกิดมาเท่าเทียมกัน และควรได้รับความเคารพ
“ฉันคิดว่าข้อสงสัยใดๆ ก็ตามเกี่ยวกับบริษัทของเราจะค่อยๆ ลดลงเมื่อผู้คนเริ่มเห็นแบรนด์ของเรามากขึ้น และผลกระทบด้านบวกที่เราจะนำมาสู่ชาวพม่า” โฆษกบริษัทอูรีดู กล่าว
พม่าหลุดพ้นจากการปกครองระบอบเผด็จการทหารพม่าในปี 2554 ภายใต้การนำของรัฐบาลกึ่งพลเรือนที่ดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจ และการเมืองได้นำไปสู่การสิ้นสุดมาตรการคว่ำบาตรส่วนใหญ่จากตะวันตก
นับเป็นครั้งแรกที่พม่าออกใบอนุญาตดำเนินกิจการด้านโทรคมนาคม ที่มีอายุ 15 ปี ให้แก่ต่างชาติเข้ามาในตลาดที่ครั้งหนึ่งเคยผูกขาดอยู่แค่เพียงบริษัทของรัฐ
บริษัทอูรีดู หรือในชื่อเดิม กาตาร์เทเลคอม กล่าวก่อนหน้านี้ว่าจะลงทุนในพม่า 15,000 ล้านดอลลาร์
พระปามุขะ ไม่วิตกว่าการคว่ำบาตรนี้จะขัดขวางนักลงทุนต่างชาติ และย้ำว่าเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากที่จะปกป้องอัตลักษณ์ชาติ และศาสนาของประเทศ
ทางการพม่าเริ่มขายซิมการ์ดราคาถูกต่ำกว่า 2 ดอลลาร์ ผ่านระบบลอตเตอรี่เมื่อปีก่อน แต่โครงการดังกล่าวมีขนาดค่อนข้างเล็ก และซิมการ์ดทั่วไปราคาขายปลีกอยู่ที่ 200 ดอลลาร์
“เราเป็นคนยากจนใช้ได้แค่โทรศัพท์ราคาถูก เราไม่สนว่าบริษัทจะมาจากที่ไหน คงจะดีไม่น้อยถ้ามีโทรศัพท์สักเครื่อง ฉันจะได้โทร.หาครอบครัว” ติน ฉ่วย อายุ 64 ปี มีรายได้จากการขี่รถสามล้อ 8 ดอลลาร์ต่อวัน ซึ่งไม่เพียงพอที่จะซื้อโทรศัพท์
ศาสนากลายเป็นประเด็นอ่อนไหวในพม่าที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ซึ่งเกิดเหตุความรุนแรงต่อต้านชาวมุสลิมขึ้นหลายระลอกในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปประมาณ 250 คน
บริษัทต่างชาติรายอื่นๆ เองก็ได้พบว่า ตกอยู่ในสถานการณ์ความตึงเครียดทางศาสนา เช่น บริษัทยูนิลีเวอร์ ต้องเร่งปลดป้ายโฆษณาซุปก้อนคนอร์ ในเมืองซิตตะเว รัฐยะไข่ หลังพบว่าบรรดาเจ้าของร้านได้พิมพ์โลโก้ชาตินิยมชาวพุทธ “969” ลงบนป้ายโฆษณา
“เราต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติ ศาสนา หรือเพศ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใด” บริษัทยักษ์ใหญ่จากเนเธอร์แลนด์ระบุในคำแถลงฉบับหนึ่ง
คลื่นความรุนแรงระหว่างชาวพุทธ และมุสลิมโรฮิงญาในรัฐยะไข่ 2 ระลอกในปี 2555 ทำให้มีผู้ไร้ที่อยู่อาศัยราว 140,000 คน ที่ส่วนใหญ่เป็นชาวโรฮิงญา และความรุนแรงนี้ยังแพร่กระจายไปยังพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ ซึ่งพระสงฆ์ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในความรุนแรงดังกล่าวด้วย
รัฐสภาพม่าได้พิจารณาเสนอร่างกฎหมายศาสนาฉบับใหม่ ที่รวมทั้งการจำกัดการเปลี่ยนศาสนาและการสมรสระหว่างศาสนา.