เซาท์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์--ระหว่างที่สตรีหมายเลขหนึ่ง นาง มิเชล โอบามา เยือนประเทศจีน โดยมีเจ้าบ้านผู้ครองสถานภาพเท่าเทียมคือ นาง เผิง ลี่หยวน อดีตนักร้องประจำกองทัพผู้งามสง่า เป็นผู้ให้การต้อนรับดูแล นับจากวันศุกร์(21 มี.ค.) เป็นต้นมา
สิ่งหนึ่งที่ชาวเน็ตแดนมังกรได้จับตามองและวิพากษ์วิจารณ์กันตลอดการเยือน 7 วันของอาคันตุกะใหญ่จากแดนมหาอำนาจตะวันตก ก็คือเสื้อผ้าหน้าผมและท่วงทีปฏิสันถารของทั้งสตรีหมายเลขหนึ่งจากจากแดนพญาอินทรี และสตรีหมายเลขหนึ่งแดนพญามังกร
สองสตรีหมายเลขหนึ่งคู่นี้มีจุดร่วมที่เด่นชัด ได้แก่ ทั้งสองอยู่ในวัย 50 ต้นๆ ได้รับการกล่าวว่าขวัญว่ามีรสนิยมในการแต่งกาย มีการศึกษาสูง ประสบความสำเร็จในอาชีพการงานมาก่อนที่สามีจะได้กินตำแหน่งผู้นำสูงสุดของประเทศ ทั้งสองต่างมีความริเริ่มโครงการการกุศลด้านสุขภาพ และทั้งสองต่างก็มีลูกสาวเหมือนกัน
ชาวสังคมออนไลน์แดนมังกรได้พูดคุยกันถึงการเลือกเสื้อผ้าไปยันรายละเอียดต่างๆระหว่างการเยือนและการต้อนรับอาคันตุกะของสตรีหมายเลขหนึ่งจากสองแดนมหาอำนาจตะวันตก-ตะวันออก กล่าวโดยรวมแล้วผู้ชมต่างประทับใจในบุคลิกภาพที่เข้มแข็งและโดดเด่นของทั้งสอง
โธมัส เย่ บล็อกเกอร์จีนผู้เกาะติดเวทีแฟชั่นและโพสต์ข้อความในชื่อ “Gogoboi” ได้ให้คะแนนการประชันสไตล์ของสองสตรีหมายเลขหนึ่ง
“รอบแรก: นาง มิเชล โอบามา แต่งกายด้วยชุดลำลอง สวมเสื้อกั๊กสีดำ เชิร์ต และกางเกงขาบาน ซึ่งก็ถูกบดบังรัศมีด้วยมาดสง่าของสตรีหมายเลขหนึ่งแดนมังกร นาง เผิง ลี่หยวนในชุดสูทนาวีสีน้ำเงินที่ดูเป็นทางการ และกระเป๋าสีแดง รอบแรกนี้ เผิงได้คะแนนสูงสุด” บล็อกเกอร์จีน ระบุในเว็บบล็อก “ซีน่า เวยปั๋ว” (Sina Weibo)
“รอบที่สอง: คะแนนเทมาที่ นางโอบามา เมื่อนางปรากฏกายในชุดกระโปรงสีแดงสดใสที่ออกแบบโดย Naeem Khan ในงานเลี้ยงที่เรือนรับรองเตี้ยวอี้ว์ไถในเย็นวันศุกร์(21 มี.ค.)
นอกจากนี้สื่อทางการหลายรายได้เข้าร่วมวงวิพากษ์วิจารณ์
สื่อของรัฐ อย่าง ไชน่า เดลี่ ระบุในคำบรรยายใต้ภาพที่แสดงภาพสองสตรีหมายเลขหนึ่ง ว่า “สตรีหมายเลขหนึ่งแห่งจีนและสหรัฐอเมริกา มีจุดร่วมกันอย่างมาก ได้แก่ ทั้งสองเป็นสัญลักษณ์แห่งเสน่ห์ในประเทศของตน และมิได้ถูกข่มด้วยรัศมีของสามีที่ทรงอำนาจมากกว่า ประชาชนต่างรักพวกเธอมิใช่เพราะสามีแต่ด้วยจากตัวตนของพวกเธอเอง สตรีทั้งสองต่างได้สร้าง “ศูนย์กลางแห่งอำนาจ” ซึ่งเป็น “อำนาจละมุน” ชนิดหนึ่ง จากการผสมผสานของความเป็นหญิงและความเป็นตัวของตัวเอง
จีนได้หวนกลับมาต้อนรับแนวความคิด “การทูตสตรีหมายเลขหนึ่ง” นับจากที่สี จิ้นผิงขึ้นสู่อำนาจในปี 2556 ด้วยความหวังว่าจะทำให้จีนดูอ่อนโยนในขณะที่ยืนยันนโยบายและแนวคิดของตนมากขึ้น ภาพลักษณ์ “สตรีหมายเลขหนึ่ง” ของจีน ปรากฏในครั้งสุดท้าย คือ นาง หวัง กวงเหม่ย ภริยาของ หลิว เส้าฉี ซึ่งครองตำแหน่งประธานาธิบดีระหว่างปี 2502-2509
อย่างไรก็ตามการที่เผิงได้รับความนิยมในหมู่สาธารชนมากขึ้นจากท่วงท่าที่มีเสน่ห์และสไตล์ที่สง่าอันเนื่องมาจากภูมิหลังการเป็นนักแสดงมืออาชีพนั้น ก็สร้างคำถามเกี่ยวกับการขยายบทบาทของเธอ
สำหรับสตรีหมายเลขหนึ่งแล้ว มีบทบาทเพียงด้านพิธีกรรมและต้องควบคุมความคิดเห็นที่แสดงออกแก่สาธารณะให้อยู่ภายในประเด็นที่จะไม่ก่อกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างเช่น การรักษาพยาบาล การศึกษา และสุขภาพ ต้า เว่ย นักวิจัยแห่งสถาบันเพื่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศร่วมสมัยแห่งจีน กล่าว
จนถึงขณะนี้ เผิงยังยืนอยู่ในขอบเขตที่ปลอดภัยโดยเพียงกระตุ้นความตื่นตัวในการป้องกันและรักษาโรคติดเชื้อไวรัสเอชไอวีหรือเอดส์ (HIV/Aids) โดยเฉพาะการดูแลเด็กกำพร้าที่ได้รับเชื้อเอดส์และวัณโรค และโครงการรณรงค์การเลิกสูบบุหรี่ ด้านนาง มิเชล โอบามา ก็ได้ริเริ่มโครงการรณรงค์ด้านสุขภาพที่คล้ายๆกันนี้ในสหรัฐฯโดยเฉพาะโครงการเด็กอ้วนที่น้ำหนักตัวล้นเกิน
อาจารย์ จิน ชันหรง แห่งวิทยาลัยความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยประชาชน (Renmin University) กล่าวถึงความคาดหวัง “การทูตสตรีหมายเลขหนึ่ง” มิได้สูงโดยส่วนใหญ่ยังคงเป็นแนวคิดตะวันตก
“ในประเทศตะวันตก งานที่เกี่ยวกับประเด็นภายในประเทศและการทูตนั้น กลายเป็นกิจวัตรของกลุ่มสตรีหมายเลขหนึ่ง
“เผิงได้สร้างภาพลักษณ์เชิงบวกในฐานะสตรีหมายเลขหนึ่งอันเป็นผลพวงจากอาชีพนักแสดง แต่มันเป็นเรื่องบังเอิญมากกว่าการกำหนดหรือได้รับการออกแบบมา”
“การที่เผิงได้แวะข้องกับประเด็นเบาๆอย่างเช่น การศึกษา และการแลกเปลี่ยนเยาวชนนั้น ช่วยเสริมสร้างความไว้วางใจและความเข้าใจ แต่ก็ดูไม่มีแนวโน้มที่เธอจะเอื้อมไปถึงประเด็นอ่อนไหว”
ตรงกันข้ามกับมิเชล โอบามา ที่ทะลวงเข้าไปถึงประเด็นเสรีภาพการพูดและการแสดงออกระหว่างการปราศรัยแก่กลุ่มนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง แม้ว่าเธออยากเว้นวรรคประเด็นการเมืองระหว่างการเยือนจีน 1 สัปดาห์ก็ตาม”