xs
xsm
sm
md
lg

ชาวพม่าหันพึ่งพลังเหนือธรรมชาติ หลังร้องรัฐถูกยึดที่ทำกินไม่เป็นผล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 28 เม.ย. เหยื่อถูกยึดที่ดินทำกินจุดธูปบูชาวิญญาณสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่ค่ายประท้วงในนครย่างกุ้ง ชาวพม่าต้องหันมาพึ่งสิ่งลี้ลับเหนือธรรมชาติ หลังเรียกร้องจากรัฐกรณีถูกยึดที่แล้วไม่เป็นผล.--Associated Press/Khin Maung Win.</font></b>

เอพี - ประชาชนชาวพม่าที่ตกเป็นเหยื่อถูกยึดที่ดินทำกินกระหายที่จะทดสอบเสรีภาพใหม่ที่ได้รับ ได้จัดชุมนุมประท้วง และส่งหนังสือร้องเรียนต่อประธานาธิบดี และรัฐสภา แต่กลับไม่มีความคืบหน้า ทำให้บางคนหันไปใช้วิธีเก่าแก่ คือ คาถาคำสาป และสิ่งลี้ลับ

โลงศพพร้อมรายชื่อผู้ที่ยึดที่ดินถูกจุดไฟเผา ชาวบ้านที่เศร้าเสียใจร้องสวดอ้อนวอนต่อเทพแห่งภูเขาให้ช่วยปลดปล่อยความคับแค้นของชาวบ้าน

“นี่เป็นอาวุธชิ้นสุดท้ายของเรา” เส่ง ธัน หนึ่งในผู้ถูกไล่ที่จากทั้งหมด 200 ครอบครัว ในเมืองแห่งหนึ่งทางตะวันออกของนครย่างกุ้ง กล่าว

ชาวบ้านหลายสิบคนทำพิธีบูชา และสวดอ้อนวอนผีดิน

“ลงโทษพวกที่ยึดเอาที่ดินทำกินของเรา และดูหมิ่นทำลายเจดีย์ ให้คนเหล่านั้นตกต่ำและอยู่อย่างนั้นตลอดไป” ชาวบ้านกล่าว

การยึดที่ดินของทหาร รัฐบาล และบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้องกับพวกพ้องรัฐบาลเผด็จการทหาร เกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติมาอย่างยาวนานในประเทศนี้ ไม่่ว่าจะเพื่อการพัฒนา หรือค้นหาทรัพยากรธรรมชาติ

ผู้ที่สูญเสียที่ดินทำกินในการยึดที่ดินครั้งใหญ่ช่วงทศวรรษ 1990 หลายคนต้องย้ายไปอยู่ในพื้นที่ห่างไกล บางคนกลายเป็นผู้อาศัยโดยไม่ได้รับอนุญาตบนที่ดินของตัวเอง หรือบางคนได้รับอนุญาตให้เพาะปลูกต่อไปหากจ่ายค่าเช่าที่ บ้านบางหลังของเกษตรกรที่ไม่ยอมออกจากที่ก็ถูกรถแทรกเตอร์เข้าปรับหน้าดินเสียหาย

รัฐบาลชุดใหม่เข้าฟื้นฟูเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ปล่อยตัวนักโทษการเมือง และดำเนินการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงประเทศหลากหลายประการ ที่ส่งผลให้ประชาคมโลกผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตร เหยื่อถูกยึดที่ดินทำกินหลายคนมีความหวังว่า รัฐบาลใหม่จะช่วยเหลือพวกเขา แต่การไล่ที่ยังคงดำเนินต่อไป

ประชาชนบางคนที่ท้าทายระบบใหม่ถูกตั้งข้อหาว่ารบกวนความสงบสุขของประชาชน หรือละเมิดกฎหมายการชุมนุมประท้วงอย่างสันติ ซึ่งอาจถูกลงโทษจำคุกสูงสุด 2 ปี

เส่ง ธัน และผู้ที่ถูกยึดที่ดินทำกินรายอื่นๆ จัดชุมนุมประท้วงด้านหน้าศาลาว่าการนครย่างกุ้ง พวกเขานั่งรวมตัวประท้วงเป็นเดือนที่ 2 แต่ทางเลือกเหลือไม่มากแล้วสำหรับพวกเขา บางคนเห็นว่าการอ้อนวอนสิ่งลี้ลับเป็นที่พึ่งสุดท้าย

“เราพยายามใช้อำนาจของผีร่ายคาถาใส่คนพวกนั้นที่ยึดเอาที่ดินของเราไป” เส่ง ธัน กล่าว

แม้ประชากรส่วนใหญ่ของพม่าจะนับถือศาสนาพุทธ แต่การบูชาวิญญาณ ภูตผี ยังคงฝังลึกอยู่ในสังคม ผู้คนยังคงบูชาวิญญาณทั้งเพื่อปัดเป่าความชั่วร้าย หรือนำโชคดีมาให้ ความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์ และพลังเหนือธรรมชาติ ยังคงเป็นเรื่องปกติตามพื้นที่ชนบท และชนกลุ่มน้อย

ไม่ใช่เรื่องปกตินักที่จะได้เห็นผู้คนพยายามที่จะใช้มนต์ดำต่ออดีตผู้ปกครองทหาร

ห่างจากนครย่างกุ้ง ไปทางเหนือราว 200 กม. เกษตรกรจำนวนหนึ่งในเขตพะโค เดินทางไปยังป่าช้า และเผาโลงศพ 3 โลง แช่งให้บรรดาผู้ที่ยึดที่ดินทำกินมากกว่า 6 พันไร่ ถึงแก่ความตาย และหวังให้คนเหล่านั้นต้องทุกข์ทรมานเหมือนที่ชาวบ้านต้องประสบอยู่

ส่วนเขตมาเกว ทางภาคกลางของประเทศ ชาวบ้านหลายร้อยคนต้องไร้ที่อยู่จากโครงการเหมืองทองแดง ชาวบ้านจัดพิธีสวดอ้อนวอนเจ้าที่ที่ดูแลรักษาภูเขาให้ลงโทษบรรดาผู้ที่รับผิดชอบโครงการ

“เราส่งคำร้องไปยังเจ้าหน้าที่รัฐในหลายระดับ ร้องไปถึงบริษัท แต่ข้อเรียกร้องของเราไม่เคยได้รับการตอบสนอง” ธัน ธัน เว ชาวบ้านรายหนึ่งที่สูญที่ดินทำกินประมาณ 25 ไร่ ให้แก่บริษัทเหมือง ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัทของทหาร และบริษัทจีน กล่าว

“เราหวังพึ่งภูตผีวิญญาณให้ช่วยพวกเรา และเราเชื่อว่าคนชั่วเหล่านั้นจะถูกลงโทษ”
<br><FONT color=#000033>ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 22 เม.ย. เกษตรกรเขตพะโคที่ถูกยึดที่ดินรวมตัวกันจุดไฟเผาโลงศพ 3 โลง เหมือนเช่นการจัดพิธีเผาศพผู้ที่ยึดที่ดิน.--Associated Press/Daily Eleven.</font></b>
กำลังโหลดความคิดเห็น