ASTVผู้จัดการออนไลน์ -- เวียดนามประกาศ "สละสิทธิ์" อย่างเป็นทางการ ไม่ขอเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ปี 2562 หลังจากมีประชามติไม่เห็นด้วยอย่างกว้างขวางด้วยสาเหตุหลากหลายประการไม่เฉพาะปัญหาที่จะต้องใช้เงินงบประมาณจำนวนมากเท่านั้น แต่ยังรวมถึง "ความสูญเปล่า" อย่างมหาศาลที่มองไม่เห็น ระยะที่ผ่านมาประชาคมออนไลน์ในเวียดนามได้เสนอความเห็นมากมายหลายแง่มุม แต่มุมหนึ่งที่ได้รับความสนใจเป็นพิเศษก็คือ เวียดนามจะต้องศึกษาบทเรียนจากไทย ประเทศเพื่อนบ้านที่เคยเป็นเจ้าภาพจัดแข่งกีฬาของชาวเอเชียมาแล้วถึง 4 ครั้ง
นับตั้งแต่การแข่งขันครั้งแรกมี่ขึ้นในอินเดียเมือปี พ.ศ.2496 เป็นต้นมา ไทยได้เป็นเจ้าภาพเอเชียนเกมส์เมื่อปี พ.ศ.2509, 2513, 2521 และ 2541 ตามลำดับ เรื่องนี้ถูกหยิบยกขึ้นเป็นตัวอย่างในการพิจารณาตัดสินใจของทางการคอมมิวนิสต์ ชาวเน็ตเวียดนามกล่าวว่าความตั้งใจของไทยที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำการกีฬาระดับโลกนั้นล้มเหลวมาโดยตลอด ทำได้ดีที่สุดก็คือเป็นได้แค่ "อันดับต้นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" เท่านั้น และหลังจากได้ใช้จ่ายเงินไปอย่างมหาศาลในการเป็นเจ้าภาพจัดแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์หลายครั้ง วันนี้การกีฬาของไทยก็ยังไปไม่ถึงไหน
ความเห็นนี้สอดคล้องกับการสำรวจประชามติออนไลน์โดยหนังสือพิมพ์เตื่อยแจ๋ ซึ่งพบว่าในบรรดาผู้ที่เข้าไปร่วมแสดงความคิดเห็นทั้งหมด 2,716 คนนั้น 83% เห็นว่าเวียดนามไม่ควรเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ในอีก 5 ปีข้างหน้า มีเพียง 15.7% ที่เห็นสมควร ซึ่งสะท้อนให้เห็น "คลื่นความคิด" ที่ออกมาคัดค้านเรื่องนี้ โดยเห็นว่าเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ รัฐบาลควรนำงบประมาณมหาศาลที่จะใช้จ่ายเพื่อการนี้ไปส่งเสริมการกีฬาแขนงต่างๆ ภายในประเทศเองจะคุ้มค่ากว่าและได้ผลที่ดีกว่า
บทเรียนจากประเทศไทย
ในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1960 และ 1970 การกีฬาของไทยนับว่ารุ่งโรจน์มากที่สุด ในย่านเอเชียไทยเป็นรองแค่ญี่ปุ่นกับฟิลิปปินส์เท่านั้น รัฐบาลไทยออกโครงการพัฒนาการกีฬาของประเทศเพื่อไปให้ถึงมาตรฐานโลกโดยใช้งบประมาณมหาศาลในการเป็นเจ้าภาพจัดแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ แต่หลังจากได้ทำหน้าที่เจ้าภาพในระหว่างปี พ.ศ.2509 และ 2521 ในระดับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไทยทำเหรียญรางวัลได้มากกว่าฟิลิปปินส์เท่านั้น แต่ไกลออกไปในระดับภูมิภาคเอเชียไทยทำได้เพียงอันดับที่ 6 ถัดจากญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ อิหร่านและเกาหลีเหนือ หลังการแข่งขันเอเชียนเกมส์ที่อินเดียเมื่อปี 2525 ไทยก็ตกไปอยู่อันดับที่ 10 ใกล้เข้ามาในเอเชี่ยนเกมส์ 2553 ที่กว่างโจว ประเทศไทยจีน ไทยก็ยังทำเหรียญทองได้เพียง 11 เหรียญ รั้งอันดับที่ 9
เมื่อมองในระดับนานาชาติ ไทยต้องปีนป่ายจนถึงปี พ.ศ.2519 จึงได้เหรียญทองโอลิมปิกเหรียญแรกที่โอลิมปิกเมืองมอนทรีออลประเทศแคนาดา ต่อมาอีก 20 ปี คือพ.ศ.2539 ไทยจึงสามารถคว้าเหรียญทองโอลิมปิกเหรียญแรกจากการแข่งขันชกมวยสากลซึ่งดูจะเป็นกีฬาถนัดที่สุดได้และก็เป็นเรื่องจริงที่กว่า 30 ปีมานี้นักกีฬาไทยก็ยังพอจะ "สู้ได้" ในกีฬาเพียง 2 ประเภทเท่านั้นคือ มวยสากลและยกน้ำหนัก
ดูเหมือนว่าการใช้จ่ายเงินมหาศาลไปกับการเป็นเจ้าภาพจัดแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์ถึง 4 ครั้งไม่ได้ช่วยทำให้ประเทศไทยก้าวขึ้นสู่ระดับท็อปในเอเชียได้ โดยไม่ต้องพูดถึงระดับโลก และเมื่อมองตัวเลขก็จะพบว่าการจัดแต่ละครั้งเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้ม มีรายงานว่าในการเป็นเจ้าภาพจัดแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์ครั้งล่าสุดของไทยในปี 2541 รัฐบาลไทยใช้จ่ายไปราว 21,970 ล้านบาท (675 ล้านดอลลาร์) และมีรายได้กลับไปเพียง 2,730 ล้านบาท (84 ล้านดอลลาร์) เท่านั้น แม้จะยังมีสิ่งปลูกสร้างเป็นถาวรวัตถุอีกจำนวนหนึ่งก็ตาม แต่เวียดนามก็ไม่ได้ต้องการสิ่งเหล่านั้น
กรุงฮานอยได้รับเลือกในเดือน พ.ย.2555 ให้เป็นเจ้าภาพจัดแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ 18 ซึ่งบัดนี้เหลือเวลาเตรียมการอีก 5 ปี แท้จริงแล้วเวียดนามควรจะภาคภูมิใจกับโอกาสที่ได้เป็นเจ้าภาพครั้งแรกของมหกรรมกีฬาที่จัดขึ้น 4 ปีต่อครั้ง หลังจากสามารถเอาชนะเมืองสุราบายาของอินโดนีเซียอย่างยากเย็นแสนเข็น แต่รัฐบาลคอมมิวนิสต์ได้อ้างสาเหตุหลักประการเดียวในการสละสิทธิ์คือปัญหาด้านการเงินในขณะที่เศรษฐกิจของประเทศกำลังพยายามฟื้นตัว
ส่วนชาวเวียดนามโดยทั่วไปนั้นเหตุผลที่คนส่วนใหญ่คัดค้่าน "ฮานอยเกมส์" ก็คือตัวอย่างจาก "ความล้มเหลว" ของไทย หนังสือพิมพ์เตื่อยแจ๋กล่าว
.
.
การถอนตัวของเวียดนามเป็นเรื่องใหญ่ สภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย (Olympic Council of Asia) ในประเทศคูเวตจะต้องเร่งหาเจ้าภาพรายใหม่ที่สามารถดำเนินการได้ในเวลาที่เหลืออยู่ ขณะที่คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งชาติของไทยแสดงความไม่มั่นใจในเงื่อนไขด้านเวลาและกำลังเตรียมการเพื่อชิงการเป็นเจ้าภาพอีกครั้งหนึ่งสำหรับเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ 19 ส่วนรัฐบาลสิงคโปร์บอก "ไม่สนใจ"
ไม่ต้องสงสัยเลยเอเชียนเกมส์เป็นกีฬาที่แพงมาก เพราะจะต้องดูแลนักกีฬากับเจ้าหน้าที่กว่าหมื่นคนจาก 45 ประเทศ และจะต้องจัดหาหรือจัดสร้างสถานที่สำหรับแข่งกีฬา 40 ประเภท มาเลเซียที่ "รวยกว่า" อาจเป็นเพียงประเทศเดียวในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่พร้อมมากที่สุดแต่ก็กำลังใคร่ครวญอย่างหนัก เจ้าหน้าที่คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งชาติให้สัมภาษณ์ในช่วงสุดสัปดาห์นี้ว่า ต้นทุนในการเป็นเจ้าภาพนั้นสูงเกินไป ถ้าหากเปิดเผยตัวเลขทั้งหมดออกมาก็เชื่อว่าประชาชนมาเลย์ส่วนใหญ่ก็จะคัดค้านเช่นกัน
อย่างไรก็ตามคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งชาติอินโดนีเซียที่เคยพ่ายเวียดนามเมื่อ 2 ปีที่แล้วได้ออกประกาศความพร้อมที่จะเป็นเจ้าภาพจัดแทนเวียดนาม ในขณะที่ทุกสายตากำลังมองไปข้ามย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปที่จีนกับกาตาร์ซึ่งเป็นไปได้มากที่สุด แต่กว่าจะทราบอนาคตของเอเชียนเกมส์ 2562 ก็คงจะต้องรอไปจนถึงเดือน ก.ย.ปีนี้ เมื่อ OCA เปิดประชุมใหญ่ที่อินชอน ก่อนจะมีพิธีเปิดเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ 17
ตามกำหนดเดิมนั้นเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ 18 มีกำหนดจัดขึ้นในปี 2561 ตามกำหนดปรกติทุกๆ 4 ปี แต่ในการประชุมใหญ่ในสิงคโปร์เดือน ก.ค.2552 สภาโอลิมปิกแห่งเอเชียได้มีมติให้เลื่อนออกไป 1 ปีเป็นปี 2562 ก่อนการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 2563 อยู่ 1 ปี
สำหรับ "อินชอนเกมส์" นั้น หลังจากเตรียมการมาเป็นเวลา 8 ปี บัดนี้เกาหลีใต้พร้อมแล้วทุกอย่าง.