xs
xsm
sm
md
lg

หวั่นสวรรค์อันดามันล่ม นักอนุรักษ์เตือนพม่าดูแลอุทยานหมู่เกาะมะริด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<bR><FONT color=#000033>สวรรค์ที่เปิดใหม่ๆ-- ภาพถ่ายวันที่ 9 ก.พ.2557 ชาวประมวงพม่าหาบน้ำจืดไปยังเรือของเขาที่เกาะนองวี (Naungwee Island) ซึ่งเป็นเกาะที่มีคนอาศัยอยู่ในเขตหมู่เกาะมะริดทางตอนใต้ของทะเลอันดามัน เป็นสวรรค์ที่ถูกปิดจากโลกภายนอกมานานหลายทศวรรษภายใต้คณะปกครองทหารและเคยเป็นสวรรค์วิมานของโจรสลัด บัดนี้หมู่เกาะมะริดพัฒนาไปเร็วมากพร้อมๆกับการท่องเที่ยวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่นี่เป็นถิ่นอาศัยของยิปซีทะเลหรือชาวมอแกนราว 2,000 คนกับพืชและสัตว์อีกนานาพันธุ์ทั้งบนเกาะและใต้น้ำนัก อนุรักษ์กล่าวว่าสิ่งเหล่านี้กำลังถูกทำลายและมีสภาพเลวร้ายลงเรื่อยๆจากการพัฒนา ไม่ต่างกับชีวิตคนพื้นเมืองก็เริ่มย่ำแย่ลง. -- Associated Press/Altaf Qadri.</b>

เอพี - เจ้าหน้าที่ด้านสิ่งแวดล้อมต่างประเทศกล่าวว่า พื้นที่อนุรักษ์ทางธรรมชาติหลายแห่งในพม่าไม่ได้รับการดูแลอย่างที่ควรจะเป็น แม้จะถูกจัดให้เป็นอุทยานแห่งชาติ กลับพบการลักลอบตัดไม้ ล่าสัตว์ และการก่อสร้างต่างๆ ในพื้นที่ เช่นเดียวกับอุทยานแห่งชาติลำปี (Lampi National Park) อุทยานทางทะเลเพียงแห่งเดียวของพม่า ที่ตั้งอยู่ท่ามกลางเกาะต่างๆ กว่า 800 เกาะในบริเวณหมู่เกาะมะริด (Mergui Archipelago) ก็เป็นเพียงพื้นที่คุ้มครองแต่เพียงในนามเท่านั้น

จูเลีย เทเดสโก้ ผู้จัดการโครงการด้านสิ่งแวดล้อมกล่าวว่า ใต้ท้องทะเลสีครามในเขตอุทยานแทบไม่พบเห็นปลา หรือปะการัง ส่วนพื้นที่บนเกาะห่างจากชายฝั่งไปเพียง 50 เมตร ก็เต็มไปด้วยท่อนซุงที่ถูกลักลอบตัดอย่างผิดกฎหมาย ใกล้กันยังพบกับดักที่วางไว้ล่าสัตว์ ส่วนชายหาดก็เกลื่อนไปด้วยพลาสติก ขวดน้ำ และขยะของเสียที่มาจากชาวบ้านซึ่งอาศัยอยู่บนเกาะ

พื้นที่คุ้มครอง 43 แห่งของพม่า เป็นหนึ่งในปราการอันยิ่งใหญ่ที่สุดของความหลากหลายทางชีวภาพของภูมิภาคเอเชีย ที่โอบล้อมด้วยยอดเขาหิมาลัย ป่ารกทึบ และป่าโกงกาง แต่ธรรมชาติเหล่านี้กลับได้รับความคุ้มครองอย่างเต็มที่แต่เพียงในนาม พื้นที่อุทยานกลับถูกบุกรุกเข้าตัดไม้ ล่าสัตว์ สร้างเขื่อน และเปลี่ยนเป็นพื้นที่เพาะปลูก เมื่อพม่าเร่งพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และเปิดให้ต่างชาติเข้าลงทุน หลังโดดเดี่ยวประเทศอยู่นานหลายทศวรรษ

และจากพื้นที่คุ้มครองทั้งหมด มีเพียงครึ่งหนึ่งที่ได้รับการสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพและวางแผนการจัดการด้วยทุนจากสหภาพยุโรป ส่วนอีก 17 แห่งที่เหลือ เป็นเพียงแค่ “อุทยานบนกระดาษ” คือ พื้นที่ที่ได้รับการประกาศคุ้มครองอย่างเป็นทางการ แต่แท้จริงกลับไม่ได้รับการดูแลแต่อย่างใด

เจ้าหน้าที่ป่าไม้ในเขตอนุรักษ์เสือหุบเขาฮูกอง (Hukaung Valley Tiger Reserve) ขนาด 21,891 ตารางกิโลเมตร ที่เป็นพื้นที่คุ้มครองเสือที่ใหญ่ที่สุดของโลก ระบุว่า ไม่ค่อยพบเสือในพื้นที่ แต่พบการรุกล้ำของบรรดานักล่าเพื่อหาชิ้นส่วนอวัยวะสัตว์นำไปใช้เป็นยาแผนโบราณในประเทศจีน

โทนี ลีนาม นักชีววิทยาจากสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า ที่มีสำนักงานในนิวยอร์ก กล่าวว่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าปีด่อง แหล่งอนุรักษ์ธรรมชาติแห่งแรกของพม่าที่ตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2461 ก็ถูกบุกรุกทั่วทั้งพื้นที่ ควรที่จะถอนออกจากสถานภาพเป็นเขตอนุรักษ์

สำหรับอุทยานแห่งชาติลำปี ในหมู่เกาะมะริด ที่ตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2539 ก็จัดว่าเป็นอุทยานแต่ในนามเช่นกัน จนกระทั่งในปีที่ผ่านมา กรมป่าไม้ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ 6 นาย เข้าคุ้มครองอัญมณีทางทะเลขนาด 204 ตารางกิโลเมตรแห่งนี้ แม้ว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ยังคงเป็นพื้นที่ที่ใครจะทำอะไรก็ได้

ประชาชนในพื้นที่ และเจ้าหน้าที่จากสถาบัน Instituto Oikos ของอิตาลี ซึ่งเป็นกลุ่มที่ จูเลีย เทเดสโก้ ทำงานให้กล่าวว่า แม้จะมีเจ้าหน้าที่ประจำการแต่การทำประมงของชาวบ้านด้วยวิธีระเบิดปลายังดำเนินอยู่ ส่วนเรือลากอวนของไทย และพม่าก็ล่วงล้ำเข้าทำประมงในพื้นที่ห้ามจับปลา ขณะที่ป่าไม้ตามธรรมชาติบนเกาะโบโช ก็กำลังถูกเปลี่ยนเป็นสวนยางจากการสนับสนุนตามนโยบายของรัฐ

นอกจากจะขาดการวางแผนจัดการพื้นที่แล้ว ในอุทยานยังมีแหล่งที่อยู่อาศัยตั้งอยู่ และขยายตัวอย่างรวดเร็วจนมีผู้อาศัยราว 3,000 คน หลายคนเป็นชาวพม่าที่อพยพมาจากแผ่นดินใหญ่
.
สวรรค์ของคนท่องเที่ยว Associated Press

2

3

4

5

6

7

8

9
แม้ว่าการทำลายธรรมชาติจะดำเนินไป แต่อุทยานเหล่านี้ยังมีความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตที่น่าทึ่งมากมาย ตามการรายงานของ Oikos และกลุ่ม BANCA องค์การที่ไม่แสวงหาผลกำไร (NGO) ของพม่า

หมู่เกาะมะริด ยังเต็มไปด้วยผืนป่าเขียวชอุ่ม อันเป็นแหล่งที่อยู่ของพืช 195 พันธุ์ นก 228 พันธุ์ สิ่งมีชีวิตในทะเลตั้งแต่พะยูน เรื่อยไปจนถึงสาหร่ายมากกว่า 73 ชนิด สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอีก 19 ชนิด และปูอีก 42 ชนิด ซึ่งสิ่งมหัศจรรย์เหล่านี้จุดประกายให้ บรรดานักพัฒนาด้านการท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่ เช่น บริษัทของสิงคโปร์ ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าสร้างโรงแรมภายในอุทยาน

เทเดสโก้ กล่าวว่า การท่องเที่ยวอาจนำพาความเสี่ยงเข้ามายังพื้นที่ แต่ขณะเดียวกัน ก็สร้างประโยชน์ให้แก่พื้นที่เช่นกัน โดยยกตัวอย่างประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ไทย ที่แรงกดดันจากบรรดานักดำน้ำทำให้การระเบิดปลาต้องยุติลงในหลายพื้นที่ ส่วนอุทยานบางแห่งควบคุมกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย และจัดหารายได้ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวให้ชาวบ้านในพื้นที่แทน

นายตอว์ ซึ่งเป็นผู้อำนวยการของกรมป่าไม้พม่า ระบุว่า ทางการจำเป็นต้องให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการรักษาอุทยานเหล่านี้ และให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า รัฐบาลตั้งใจที่จะขยายพื้นที่คุ้มครองจากที่มีอยู่ 5.6% ของพื้นที่ทั้งหมดในประเทศเป็น 10% ในปี 2563 ด้วยการเพิ่มพื้นที่อนุรักษ์ขึ้นอีก 8 แห่ง แต่ยังคงเผชิญกับปัญหาเรื่องข้อจำกัดด้านวัสดุ ทรัพยากรมนุษย์ และทุน ในการเปลี่ยนพื้นที่ให้กลายเป็นสวรรค์สำหรับสัตว์ป่า และที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ

ทางการพม่า กำลังดำเนินการที่จะนำทุนจากผู้บริจาคต่างชาติไปใช้ไปการยกระดับอุทยานมากกว่า 6 แห่ง นอกจากนั้น ยังมีพื้นที่ลุ่มน้ำบนบก พื้นที่น้ำกร่อย และพื้นที่ทางทะเลซึ่งมีแนวปะการังที่ยังเหลืออยู่มากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บางแห่งเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และยังไม่ถูกจัดให้เป็นอุทยานของพม่า ซึ่งนักสิ่งแวดล้อมกำลังผลักดันให้พื้นที่ทางธรรมชาติเหล่านี้ได้รับการคุ้มครอง

รายงานระบุว่า ก่อนที่รัฐบาลพลเรือนชุดใหม่จะเข้าบริหารประเทศ พม่าได้รับทุนอนุรักษ์จากต่างชาติราว 1 ล้านดอลลาร์ต่อปี แต่คาดว่าจะเพิ่มเป็น 3 ล้านดอลลาร์ในปีนี้ และพุ่งทะยานเป็นจำนวนมากกว่า 20 ล้านดอลลาร์ ด้วยความช่วยเหลือจากนอร์เวย์ และสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ
หลากชีวิตในอุทยาน Associated Press

10

11

12

13

14
“มาตรการที่สำคัญที่สุดคือ การขยายพื้นที่คุ้มครองทางทะเลเพื่อปกป้องคุ้มครองธรรมชาติ ที่ไม่เพียงแค่คุ้มครองจากการท่องเที่ยว แต่จากผลกระทบรุนแรงจากการลากอวน และการระเบิดปลา ก่อนที่ผู้มีผลประโยชน์ หรือผู้มีอิทธิพลจะทำให้การกำหนดพื้นที่คุ้มครองทางทะเลเป็นไปไม่ได้” แฟรงก์ มอมเบิร์ก เจ้าหน้าที่จากกลุ่มอนุรักษ์สัตว์ป่าและพันธุ์พืชนานาชาติ (Fauna and Flora International) กล่าว

เมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา กลุ่มนักอนุรักษ์สัตว์ป่าและพันธุ์พืชนานาชาติเผยว่า การตั้งอุทยานแห่งใหม่ในรัฐกะฉิ่น จะช่วยอนุรักษ์ลิงหายากที่นักวิทยาศาสตร์ค้นพบเมื่อ 4 ปีก่อน ซึ่งคาดว่าในพื้นที่พรมแดนทางภาคเหนือของพม่า มีลิงจมูกเชิดอาศัยอยู่ราว 330 ตัว และลิงเหล่านี้กำลังถูกคุกคามจากการลักลอบตัดไม้ผิดกฎหมาย

ผู้เชี่ยวชาญต่างชาติที่ทำงานร่วมกับชาวพม่าประทับใจต่อความทุ่มเท และความเป็นมืออาชีพของเจ้าหน้าที่บางส่วนในรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมอบกองกำลังที่มีประสิทธิภาพที่ต้องเผชิญกับความท้าทายในการป้องกันการรุกล้ำพื้นที่จากบรรดานายทหารระดับสูง พวกพ้องคนสนิทในรัฐบาล และบริษัทสร้างเขื่อนของไทย และจีน

โทนี ลีนาม เจ้าหน้าที่จากสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่าที่ทำงานร่วมกับกลุ่มคุ้มครองช้างในอุทยานหลายๆ แห่ง กล่าวว่า กลุ่มลาดตระเวนที่ได้ร่วมเดินทางไปด้วยกันนั้นสามารถจับกุมตัวชาวบ้านที่ลากไม้ออกจากอุทยาน ซึ่งสารภาพว่าทำงานให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่ป่าไม้

ลีนาม ยังระบุอีกว่า การเร่งอัดฉีดทุนต่างชาติในโครงการอนุรักษ์ธรรมชาติและอุทยานต่างๆ เป็นเสมือนดาบสองคม ที่อาจทำให้พม่ามีอุทยานดีๆ เพิ่มขึ้นในช่วง 5-10 ปีข้างหน้า แต่ขณะเดียวกัน เงินจากต่างชาติเหล่านี้สามารถช่วยเพิ่มอำนาจให้ผู้มีอิทธิพลที่กระทำการทุจริต โดยเงินจากต่างชาติจำนวนมากที่ตั้งใจนำไปใช้ในการอนุรักษ์จะผ่านเข้าระบบ และเข้ากระเป๋าใครบางคน แต่แม้จะมีรูรั่ว ทุนเหล่านี้ก็ยังคงช่วยเหลือได้มาก

โรเบิร์ต เมเธอร์ จากสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับธรรมชาติในประเทศเพื่อนบ้านเป็นบทเรียนให้เห็นถึงอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นกับพม่าในอีก 10 ปีข้างหน้าหากยังไม่เริ่มต้นดำเนินการ เวลานี้จึงเป็นโอกาสทองที่จะรักษาสิ่งที่ยังคงมีอยู่.
กำลังโหลดความคิดเห็น