รอยเตอร์ - พม่าจะห้ามส่งออกไม้ซุงตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. นี้ นับเป็นความเคลื่อนไหวที่จะกระทบต่อผลกำไรในภาคส่วนดังกล่าวที่เป็นทุนสำคัญของบรรดาทหารอดีตผู้ปกครองประเทศมาเป็นเวลายาวนานหลายสิบปี เมื่อรัฐบาลนักปฏิรูปชุดใหม่พยายามที่จะรักษาป่าไม้ของประเทศ
พม่ามีพื้นที่ป่าขนาดใหญ่ตั้งแต่บริเวณที่ลาดเชิงเขาหิมาลัยในภาคเหนือ ไปจนถึงป่าฝนเขตร้อนในภาคใต้ แต่ป่าไม้เหล่านี้กำลังลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว
กระทรวงป่าไม้พม่าเปิดเผยข้อมูลระบุว่า พื้นที่ป่าลดลงเกือบ 1 ใน 5 เหลือพื้นที่ป่าเพียง 47% ในปี 2553 จาก 58% ในปี 2533 ขณะที่รัฐบาลระบุว่า ยอดการส่งออกไม้ในปีงบประมาณ 2555-2556 อยู่ที่ 1.24 ล้านลูกบาศก์ตัน ทำรายได้มากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์
ในขณะที่ไม้ยังคงเป็นแหล่งรายได้สำคัญสำหรับบรรดาผู้ปกครอง แต่หลังจากรัฐบาลกึ่งพลเรือนเข้าบริหารประเทศในปี 2554 สิ่งนี้ดูจะไม่สำคัญเช่นเดียวกับเมื่อก่อน
การดำเนินการปฏิรูปการเมือง และเศรษฐกิจของพม่า ทำให้สหภาพยุโรป สหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ ผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรอนุญาตการลงทุนจากต่างชาติเข้าสู่ภาคส่วนต่างๆ ของพม่า เช่น การโทรคมนาคม และการปฏิรูปก็ดำเนินมาถึงภาคส่วนป่าไม้ ที่รัฐบาลพร้อมจะให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์มากกว่าผลกำไร
การห้ามส่งออกไม้ซุงมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมป่าไม้ ที่รายได้ราว 90% มาจากการส่งออกไม้ซุง และไม้ที่ยังไม่ทำเป็นผลิตภัณฑ์ บาร์เบอร์ โช หัวหน้าสมาคมพ่อค้าไม้พม่า ที่มีบริษัทกว่า 900 ราย ร่วมเป็นสมาชิกระบุ
“อุตสาหกรรมพม่าอาจได้รับผลกระทบ บางคนอาจได้รับผลกระทบ มันเป็นเรื่องยาก และซับซ้อนสำหรับพวกเรา” บาร์เบอร์ โช กล่าว
จากกฎหมายใหม่นี้ จะส่งผลให้รายได้ตกลง ที่เป็นการบังคับให้บรรดาบริษัทป่าไม้ต้องลงทุนกับโรงเลื่อยใหม่เพื่อให้ธุรกิจยังอยู่ในการแข่งขันได้ แต่การออกกฎนี้ก็ถือเป็นสิ่งจำเป็น เมื่ออดีตรัฐบาลทหารปล่อยให้มีการ “ผลิตมากเกินความต้องการ” ซึ่งเป็นการทำลายป่าไม้ของประเทศมาเป็นเวลาหลายสิบปี
การโดนคว่ำบาตร การจัดการเศรษฐกิจที่ผิดพลาด และความต้องการสกุลเงินที่แข็งค่า ส่งผลให้บรรดานายพลให้สัมปทานตัดไม้แก่พวกพ้องเพื่อส่งออกไม้ซุง แลกเปลี่ยนกับเงินสดที่จำเป็นต้องนำมาใช้ค้ำการปกครองของตัวเอง
นอกจากนั้น ผลิตภัณฑ์จากป่าไม้ถือเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศถูกกฎหมายที่สำคัญเป็นอันดับ 2 ของรัฐบาลเผด็จการทหาร ที่ทำรายได้จากการส่งออกถึง 428 ล้านดอลลาร์ ในช่วงปีงบประมาณ 2547-2548
บริษัท Asia World บริษัท Htoo Group และ บริษัท Yuzana Co. จัดอยู่ในกลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับป่าไม้ โดยที่บริษัท Htoo Group และบริษัท Yuzana เป็น 2 บริษัทน้ำมันปาล์มยักษ์ใหญ่ ในเขตตะนาวศรี ทางภาคใต้ ขณะที่บริษัท Yuzana ดำเนินกิจการสัปทานเชื้อเพลิงชีวภาพในพื้นที่ราว 500,000 ไร่ ของรัฐกะฉิ่น ที่เป็นแหล่งอนุรักษ์เสือใหญ่ที่สุดของโลก ซึ่งทหารยังได้ทำสัญญากับบริษัท Asia World ที่จะสร้างถนน และเขื่อนในพื้นที่ดังกล่าว
“บริษัทเหล่านี้ได้รับสิทธิตัดไม้ในพื้นที่โครงการของพวกเขา” กลุ่มอนุรักษ์ป่าไม้ที่มีสำนักงานในกรุงวอชิงตันระบุในรายงานเมื่อไม่นานนี้
คำสั่งห้ามส่งออกไม้ของรัฐบาลระบุครอบคลุมต้นไม้ทุกชนิด ซึ่งจะยุติสถานะของพม่าในการเป็นประเทศเดียวที่ส่งออกไม้สักจากป่าธรรมชาติมากกว่าป่าปลูก และเพียงเฉพาะการส่งออกไม้สักเพียงอย่างเดียว ก็ทำรายได้ให้แก่ประเทศ 359 ล้านดอลลาร์ ในปีที่ผ่านมา
“แน่นอนว่าการห้ามส่งออกนี้ควรมีมานานแล้ว แต่เริ่มช้าก็ยังดีกว่าไม่เริ่มเลย และเราเชื่อว่าสิ่งนี้จะช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับไม้ และเพิ่มโอกาสในการทำงานมากขึ้น” เจ้าหน้าที่กระทรวงป่าไม้ กล่าว
ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นไป รัฐบาลวางแผนที่จะลดจำนวนไม้สักที่อนุญาตให้นำออกจากป่าถึงร้อยละ 80.