ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ปัจจุบันกัมพูชามีพื้นที่สวนยางพาราจำนวนทั้งหมด 325,905 เฮกตาร์ (2,036,0906 ไร่) คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 420,000 เฮกตาร์ (2,625,000 ไร) ในปี 2561 หรืออีก 3 ปีข้างหน้า และเพิ่มเป็น 450,000 เฮกตาร์ (2,812,5000 ไร่) ในปี 2563 โดยมีเป้าหมายผลิตยางให้ได้ปีละ 4-5 แสนตัน ทั้งนี้ เป็นตัวเลขล่าสุดที่เผยแพร่โดยกระทรวงเกษตร ป่าไม้และการประมง
จำนวน 2.625 ล้านไร่ เป็นตัวเลขจนถึงสิ้นปี 2556 ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นจาก 280,563 เฮกตาร์ (1,753,518 ไร่) ในปี 2555 คิดเป็น 16.36% ในขณะที่นักลงทุน และเกษตรกรทั่วประเทศกำลังขยายการทำสวนยางออกไปอย่างต่อเนื่อง สำนักข่าวของทางการรายงานในสัปดาห์นี้
พื้นที่สวนยางทั้งหมดมีจำนวน 55,895 เฮกตาร์ (439,343 ไร่) อยู่ภายใต้โครงการเกษตรอุตสาหกรรมโดยหน่วยงานรัฐ อีก 135,446 เฮกตาร์ (846,537 ไร่) เป็นของนักลงทุนเอกชนภายใต้สัญญาสัปทานเช่าที่ดิน และ 134,563 เฮกตาร์ (841,018 ไร่) เป็นสวนยางบนผืนดินของราษฎร ทั้งเป็นเอกเทศ และภายใต้ความร่วมมือเกษตรพันธสัญญา
ปัจจุบัน มีราษฎรปลูกยางพารารวม 27,679 ครัวเรือน ใน 18 จังหวัดทั่วประเทศ คือ รัตนคีรี สตึงแตร็ง กระแจ๊ มณฑลคีรี กัมปงจาม กัมปงธม พระวิหาร พระตะบอง ไพลิน โพธิสัตว์ บ้านใต้มีชัย เสียมราฐ อุดรมีชัย เกาะกง พระสีหนุ กัมโป้ต เปรยแวง และ จ.สวายเรียง
ในปัจจุบัน ทั้งประเทศมีโรงงานผลิตและแปรรูปยางพารารวมกัน 65 แห่ง สำนักข่าวกัมพูชากล่าว
การปลูกยางพาราเป็นอาชีพที่ได้รับความสนใจจากประชาชนอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีมานี้ หลังจากราคาในตลาดโลกพุ่งขึ้นสูง โดยมีอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศจีนซึ่งเป็นตลาดยางพาราใหญ่ที่สุดเป็นแรงผลักดันสำคัญ
หลายปีมานี้ กัมพูชา และ 2 ประเทศเพื่อนบ้านเล็กๆ ได้กลายเป็นเป้าหมายของนักลงทุนต่างชาติที่มุ่งเข้าไปแสวงหาสัมปทานที่ดินจำนวนมากๆ อายุเช่าตั้งแต่ 30-50 ปี ซึ่งนอกจากยางพาราแล้วพืชเศรษฐกิจสำคัญอื่นๆ เช่น ปาล์มน้ำมัน หรือต้นยูคาลิปตัสสำหรับผลิตเยื่อกระดาษก็ได้รับความสนใจจากนักลงทุนเช่นกัน.