ASTVผู้จัดการออนไลน์ - กัมพูชาทำพิธีเปิดเดินเครื่องโรงไฟฟ้าพลังความร้อนถ่านหินแห่งแรกของประเทศ ในวันอังคาร 25 ก.พ.ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีฮุนเซน ซึ่งเป็นประธานในพิธีร่วมกับผู้บริหารของบริษัทลงทุนจากมาเลเซียกล่าวว่า ไฟฟ้าที่ผลิตได้จะช่วยลดการขาดแคลนในเมืองหลวงลง ซึ่งในปัจจุบันใช้ไฟกว่า 400 เมกะวัตต์ และต้องการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
โรงไฟฟ้าขนาด 100 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ในท้องที่ อ.สตึงหาว (Stung Hav) จ.พระสีหนุ ซึ่งเป็นที่ตั้งเขตอุตสาหกรรมและการค้า รวมทั้งท่าเรือที่ทันสมัย ลงทุนในรูปแบบสัมปทานระยะเวลา 33 ปีโดยบริษัท Leader Universal Holdings Bhd จากมาเลเซีย ใช้เวลาก่อสร้างนานเกือบ 3 ปี และจะใช้ถ่านหินที่นำเข้าจากประเทศออสเตรเลียเป็นเชื้อเพลิง
เมื่อวันที่ 26 ก.พ.2556 หรือ 1 ปีก่อนหน้านี้ บริษัทปิโตรเคมีกัมพูชา (Cambodian Petrochemical Company) หรือ CPC ได้ลงมือก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนจากถ่านหินอีกแห่งหนึ่งใน จ.กัมโป้ต (Kampot) ทางตอนใต้ของประเทศ ด้วยเงินลงทุนราว 300 ล้านดอลลาร์ โดยร่วมทุนกับรัฐวิสาหกิจผลิตไฟฟ้าจากจีน 2 แห่ง ซึ่งกำลังจะเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งที่ 2 ไฟฟ้าที่ผลิตได้ทั้งหมดจะจำหน่ายให้รัฐบาลเช่นกัน
ตามรายงานของกระทรวงอุตสาหกรรม เหมืองแร่และพลังงาน ในปี 2554 กัมพูชานำเข้ากระแสไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านกว่า 1,644 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี รวมทั้งลาว ไทย และเวียดนาม ปัจจุบัน กัมพูชาต้องการไฟฟ้าราว 600 เมกะวัตต์ ใช้ในกรุงพนมเปญราว 400 เมกะวัตต์ ที่เหลือเป็นไฟฟ้าที่ใช้ในจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ แต่ความต้องการนี้เพิ่มขึ้นทุกปี
ตามรายงานของการไฟฟ้ากัมพูชา เมื่อปีที่แล้วทั่วประเทศใช้กระแสไฟฟ้ารวมกันทั้งสิ้น 4,297 กิโลวัตต์ชั่วโมง เพิ่มขึ้น 22% จาก 3,527 กว.-ชม. ในปี 2555 ขณะเดียวกัน ก็มีแหล่งผลิตไฟฟ้าที่มีศักยภาพเพิ่มขึ้นเป็น 1,370 เมกะวัตต์ หรือ 66.70% จากเพียง 822 เมกะวัตต์ ในปีก่อนหน้านั้น.