เอเอฟพี - ที่ปรึกษาประธานาธิบดีพม่าเผยวันนี้ (11) ว่า ทางการพม่าได้ปล่อยตัวนักโทษการเมือง 44 คน ในการอภัยโทษครั้งล่าสุดของรัฐบาลนักปฏิรูป ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับการเปิดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ที่พม่าเป็นเจ้าภาพ
อย่างไรก็ตาม ยังคงมีนักเคลื่อนไหวอีกหลายสิบคนถูกควบคุมตัวในเรือนจำในพม่า
“นักโทษการเมืองรวมทั้งหมด 44 คน จากทั่วประเทศได้ถูกปล่อยตัวเป็นอิสระในวันนี้” หล่า หม่อง ฉ่วย กล่าว
ผู้เห็นต่างจากรัฐหลายร้อยคนได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระนับตั้งแต่ปี 2554 และประธานาธิบดีเต็งเส่งได้ให้คำมั่นว่าจะปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งหมดภายในสิ้นปีนี้
อดีตนายพลที่ขึ้นบริหารประเทศในเดือน มี.ค.2554 ได้รับเสียงชื่นชม และได้รับการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรส่วนใหญ่จากการดำเนินการปฏิรูปประเทศ ที่รวมทั้งการปล่อยบรรดานักวิจารณ์รัฐหลายร้อยคนที่ถูกควบคุมตัวภายใต้การปกครองสมัยรัฐบาลเผด็จการทหาร
ภายใต้การนำของเต็งเส่ง พม่ามีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างมากมายมหาศาล ที่รวมทั้งการเลือกตั้ง นางอองซานซูจี เข้าสู่สภา
แต่นักรณรงค์เคลื่อนไหวส่วนหนึ่งกล่าวว่า ทางการยังคงดำเนินคดีต่อบรรดาผู้เห็นต่างภายใต้กฎระเบียบที่เก่า และไม่ได้มาตรฐานสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการชุมนุมประท้วงโดยไม่ได้รับอนุญาต
โบ ยี จากสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองพม่าระบุว่า ยังมีนักโทษการเมืองมากกว่า 44 คน ถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำ และมีนักเคลื่อนไหวอีก 200 คน กำลังรอการพิจารณาคดี
“รัฐบาลควรออกกฎหมาย และให้พื้นที่สำหรับการชุมนุมประท้วง ตราบใดที่มีควบคุมตัว ก็ยังคงมีนักโทษการเมือง” โบ ยี กล่าว
ก่อนการปฏิรูปประเทศ กลุ่มเรียกร้องสิทธิมนุษยชนกล่าวหารัฐบาลเผด็จการทหารในสมัยนั้นว่าได้จำคุกฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ผู้เห็นต่าง และผู้สื่อข่าว ราว 2,000 คน
การจำคุกอย่างไร้เหตุผลได้กลายเป็นเครื่องหมายของรัฐบาลเผด็จการทหารที่ปฏิเสธการเมืองอยู่ของนักโทษการเมือง เช่นเดียวกับการลงโทษอย่างรุนแรงต่อนักเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิมนุษยชน ผู้สื่อข่าว ทหาย และนักแสดง
นักรณรงค์เคลื่อนไหวกล่าวหารัฐบาลว่า ใช้การปล่อยนักโทษเพื่อหาประโยชน์ทางการเมือง และคานอำนาจกับประชาคมโลก
การอภัยโทษครั้งล่าสุดนี้มีขึ้นในช่วงเวลาที่บุคคลสำคัญชาวต่างชาติรวมตัวกันในเมืองหลวงของพม่า เพื่อเข้าร่วมในพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์
เต็งเส่ง ที่ได้รับเสียงชื่นชมจากนานาชาติ และได้รับการเพิกถอนมาตรการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตกต่อการปฏิรูปประเทศ ได้ประกาศในระหว่างการเยือนกรุงลอนดอนเมื่อเดือน ก.ค. ว่า จะไม่มีนักโทษการเมืองในพม่าอีกภายในสิ้นปีนี้
ก่อนหน้านี้ พม่าอภัยโทษนักโทษ 69 คน ในเดือน พ.ย. ในขณะที่พม่าเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้แทนจากนานาชาติในระดับสูง ที่รวมทั้งผู้แทนจากสหภาพยุโรป
หลังจากนั้นไม่นาน คณะกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ เรียกร้องให้พม่ายึดมั่นตามคำมั่นที่ให้ไว้ว่าจะปล่อยนักโทษการเมือง ขณะที่สหประชาชาติผ่านมติประจำปีต่อพม่า
นักโทษหลายคนที่ได้รับการปล่อยตัวในวันนี้ (11) ก็มีความเชื่อมโยงกับความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ของประเทศ โบ ยี กล่าว
รัฐบาลเต็งเส่ง ได้บรรลุข้อตกลงสันติภาพเบื้องต้นกับกลุ่มกบฏติดอาวุธชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อยกลุ่มใหญ่หลายกลุ่มในประเทศ อันเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการปฏิรูป แต่การต่อสู่ในรัฐกะฉิ่น ทางภาคเหนือใกล้พรมแดนจีน ยังคงดำเนินอยู่ นับตั้งแต่ข้อตกลงหยุดยิงนาน 17 ปี ยุติลงในเดือน มิ.ย.2554 ทำให้ประชาชนหลายหมื่นคนต้องไร้ที่อยู่อาศัย.