ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ใกล้สิ้นปี เพื่อนบ้านกลุ่มอาเซียนต่างก็เปิดเผยชอปปิ้งลิสต์อาวุธยุทโธปกรณ์กันแบบไม่ปิดบัง สัปดาห์ที่ผ่านมา อินโดนีเซีย ประกาศแผนการจัดซื้อเรือดำน้ำใหม่เอี่ยมจากรัสเซียถึง 10 ลำ ในช่วงเดียวกัน บรูไน ก็ได้รับมอบเฮลิคอปเตอร์ S-70i จำนวน 4 ลำแรก ที่ซื้อจากสหรัฐฯ ทั้งหมด 12 ลำ และฟิลิปปินส์ กำลังจัดซื้อจัดหาปืนใหญ่อัตตาจรเข้าประจำการเป็นครั้งแรก พร้อมกระสุนอีกหลายหมื่นนัดเสริมเขี้ยวกองทัพบก
การจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ทั้งหมดนี้มาจากสาเหตุเดียวกันคือ “ภัยข่มขู่คุกคามทางทะเล” ซึ่งหลายประเทศในย่านนี้ใช้แทนความหวาดวิตกจากการขยายอำนาจของจีนลงสู่ทะเลจีนใต้ และย่านเอเชียแปซิฟิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งทั้งบรูไน และฟิลิปปินส์ ต่างก็กล่าวอ้างเป็นเจ้าของเกาะจำนวนหนึ่งในทะเลหลวงที่จีนขีดแผนที่เองประกาศเป็นเจ้าของแต่ผู้เดียวเกือบจะทั้งหมด
ตามรายงานในเว็บไซต์บริษัทซิกอร์สกี (Sikorsky) ผู้ผลิตในรัฐคอนเน็กติกัต การส่งมอบ “แบล็กฮอว์ก” 2 ลำแรกมีขึ้นสัปดาห์ต้นเดือน ธ.ค. อีก 2 ลำกำลังดำเนินการ อากาศยานปีกหมุนอเนกประสงค์ใหม่เอี่ยมทั้ง 4 ลำ ส่งถึงฐานทัพอากาศในบรูไนตั้งแต่วันที่ 27 พ.ย.โดยเครื่องบินขนส่งแอนโตนอฟ ทั้งหมดจะทยอยเข้าประจำการแทนเฮลิคอปเตอร์เบล 212 (Bell 212) ที่ตกยุค ซึ่งปัจจุบันกองทัพอากาศบรูไนมี 9 ลำ
บริษัทซิกอร์สกี กล่าวว่า ที่เหลืออีก 8 ลำ จะส่งให้ครบภายในสิ้นปี 2557 ทั้งหมดเซ็นสัญญาซื้อขายกันในปี 2554
อากาศยานปีกหมุนทั้ง 4 ลำ ติดตั้งระบบอำนวยการทันสมัย รวมทั้งระบบเรดาร์ ระบบบังคับควบคุม มีความสามารถอย่างเต็มที่ในภารกิจค้นหากู้ภัย รวมทั้งประสิทธิภาพสูงสำหรับงานด้านความมั่นคงปลอดภัยต่างๆ ของบรูไนด้วย
สำนักข่าวกลาโหมเจนส์ (Jane’s) รายงานเรื่องเดียวกันนี้ว่า สัญญาซื้อขายยังรวมทั้งซิกอร์สกีจะฝึกอบรมนักบินรุ่นใหม่ให้แก่บรูไนในสหรัฐฯ จำนวน 4 นาย และยังให้ออปชันบรูไนสามารถจัดซื้อ S-70i เพิ่มได้อีก 5 ลำ หากต้องการ ซึ่งจะทำให้มี “แบล็กฮอว์ก” รุ่นใหม่เข้าประจำการแทน S-70A/C รุ่นเก่าที่มีอยู่ 4 ลำ
เจนส์รายงานขณะเดียวกันว่า กระทรวงกลาโหมฟิลิปปินส์ เพิ่งจะประกาศแผนการจัดซื้อจัดหาปืนใหญ่อัตตาจรขนาด 155 มม.จำนวน 10 ชุด พร้อมกระสุน 240 นัด รวมทั้งลูกกระสุนสำหรับอาวุธปืนชนิดอื่นๆ อีก ภายใต้งบประมาณจัดซื้อ 1,000 ล้านเปโซ หรือประมาณ 22.7 ล้านดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบโดย “ASTVผู้จัดการออนไลน์” เฟซบุ๊กกระทรวงกลาโหมฟิลิปปินส์ ระบุแผนจัดซื้อจัดหาปืนใหญ่ขนาด 155 มม.จำนวน 12 ชุด เป็นชนิดลากจูง (Towed) ทั้งหมด ซึ่งยังไม่สามารถหาแหล่งข่าวอิสระยืนยันเกี่ยวกับจำนวนได้ในขณะนี้
แผนการจัดซื้อจัดหาในล็อตเดียวกันนี้ ยังรวมกระสุนสำหรับปืนขนาด 25 มม. 40 มม. และ 105 มม. รวม 54,000 นัด กล้องติดปืนช่วยเล็งเป้า จำนวน 5,500 ชุด สำหรับกองกำลังนาวิกโยธิน และยังมีรถลำเลียงพลยกพลขึ้นบกขนาดเล็กอีก 10 คัน เจนส์กล่าว
.
.
กระทรวงกลาโหมในกรุงมะนิลา เปิดให้ผู้ผลิต หรือผู้จำหน่ายยื่นซองประกวดราคาจนถึงกลางเดือน ธ.ค.นี้ และรัฐบาลจะเจรจาต่อรองกับผู้ที่เสนอราคา เสนอเงื่อนไขต่างๆ ดีที่สุดก่อนเซ็นสัญญาจัดซื้อ
สำหรับปืนใหญ่พร้อมกระสุน บริษัทคู่สัญญาต้องสามารถจัดหา และส่งมอบได้ภายในเวลา 1 ปี และภายใน 8 เดือน สำหรับกระสุนปืนชนิดอื่น กับ 6 เดือน สำหรับยานลำเลียงพลยกพลขึ้นบกขนาดเล็ก เจนส์กล่าว
ตามตัวเลขในเว็บไซต์กองทัพบก ปัจจุบัน ฟิลิปปินส์มีปืนใหญ่ประจำการหลายรุ่น แต่มี 2 ขนาด คือ M-71 “ซอลตัม” (Soltam) 155 มม. ผลิตในอิสราเอล จำนวน 14 ชุด M 114 (155 มม.) ผลิตในสหรัฐฯ 12 ชุด กับ M 101 (105 มม.) ผลิตในสหรัฐฯ 150 ชุด รวมทั้งที่ใช้โดยกองกำลังนาวิกโยธินด้วย และยังมี M 102 (105 มม.) อีก 24 ชุด กับ Model 56 (105 มม.) ผลิตในอิตาลีอีก 120 ชุด
อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดล้วนเป็นปืนใหญ่ชนิดใช้พาหนะลากจูง
สำหรับการจัดซื้อ ป.อัตตาจรครั้งแรกสุดนี้ กองทัพบกฟิลิปปินส์อาจจะเล็งไปยังแบบ K9 “ธันเดอร์” (Thunder) ที่ผลิตในเกาหลี และได้รับการยอมรับจากวงการกลาโหมโลกในขณะนี้ เจนส์รางานอ้างความเห็นของผู้สังเกตุการณ์.
.
2
3
4
5