เอเอฟพี/ซินหวา - สื่อทางการของจีนรายงานวานนี้ (20) ระบุว่า ท่อส่งก๊าซธรรมชาติจากพม่าไปจีน ได้เปิดใช้งานอย่างเต็มรูปแบบแล้ว หลังส่วนสุดท้ายของท่อส่งก๊าซที่เชื่อมต่อเมืองหลู่เฟิ่ง และเมืองกุ้ยก่าง ในพื้นที่ตะวันตกเฉียงใต้ของจีน เสร็จสมบูรณ์
โครงการท่อส่งก๊าซพม่า-จีน ที่มีความยาวมากกว่า 2,500 กม. จากภาคตะวันตกของพม่าไปยังภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน จะช่วยหล่อเลี้ยงความต้องการด้านพลังงานที่ขยายตัวของประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก
โครงการนี้มีขึ้นในขณะที่ความสัมพันธ์ทางการเมืองใกล้ชิดระหว่าง 2 ประเทศคลายลง หลังรัฐบาลกึ่งพลเรือนพม่าเข้าบริหารประเทศในปี 2554 และดำเนินการปฏิรูปหลากหลายด้านที่นำไปสู่การผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตก
รายงานระบุว่า โครงการท่อส่งก๊าซเส้นนี้เริ่มเปิดใช้งานครั้งแรกในเดือน ก.ค. หลังก่อสร้างนาน 3 ปี และได้เข้าสู่ระบบการทำงานอย่างเต็มรูปแบบเมื่อวันอาทิตย์ (20) ท่อส่งก๊าซเส้นนี้มีต้นทางจากเมืองจ็อกพยู ทางชายฝั่งตะวันตกของพม่า และส่งก๊าซให้แก่พื้นที่ในพม่า และพื้นที่ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน รวมทั้งมณฑลหยุนหนัน มณฑลกุ้ยโจว มหานครฉงชิ่ง และมณฑลกว่างซี
ท่อส่งก๊าซเส้นนี้จะส่งก๊าซราว 12,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ซึ่งจะช่วยให้ราคาก๊าซถูกลง และลดปริมาณการใช้ถ่านหิน ได้ 30.72 ล้านตันต่อปี ตามรายงานของบริษัทปิโตรเลียมแห่งชาติจีน (CNPC)
แต่นักวิจารณ์ระบุว่า โครงการยึดที่ดินจากชาวบ้าน และยังดำเนินการบนความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ท่อส่งก๊าซวางพาดผ่านพรมแดนจีนที่เมืองรุ่ยลี่ ที่การต่อสู้ปะทุขึ้นเมื่อต้นปีระหว่างกองกำลังของรัฐบาลพม่า และกลุ่มกบฏกะฉิ่น
อย่างไรก็ตาม โครงการท่อส่งก๊าซเส้นนี้จะช่วยจีนนำเข้าพลังงานหลากหลายขึ้น เนื่องจากในปัจจุบันจีนนำเข้าก๊าซส่วนใหญ่จากพื้นที่รอบช่องแคบมะละกา และเมื่อมีท่อส่งก๊าซเพิ่มอีกเส้นทางจากบนบก ก็จะช่วยลดปัจจัยที่เป็นอันตราย.