แถ่งเนียน - ความต้องการเนื้อสุนัขในเวียดนาม ส่งผลให้เกิดความวิตกเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า เมื่อประชาชนมากกว่าร้อยคนในพื้นที่ทางภาคเหนือของเวียดนามถูกสุนัขที่มีเชื้อพิษสุนัขบ้ากัดในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา
เจ้าหน้าที่ในเขตพื้นที่ที่อยู่ห่างจากกรุงฮานอยได้ตั้งหน่วยงานพิเศษขึ้นเพื่อตามล่า จับ และกำจัดสุนัขจรจัด หลังประชาชนอย่างน้อย 117 คน ถูกสุนัขที่มีเชื้อพิษสุนัขบ้ากัด
จากรายงานการพบสุนัขที่มีเชื้อพิษสุนัขบ้าที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ส่งผลให้ผู้เชี่ยวชาญได้เรียกร้องให้มีการปรับปรุงการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสนัขบ้าให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น รวมทั้งควบคุมการค้าสุนัขผิดกฎหมาย และการห้ามการค้าสุนัขเพื่อนำเนื้อมาเป็นอาหาร เพื่อกำจัดการแพร่ระบาดของเชื้อพิษสุนัขบ้าไปสู่มนุษย์
การระบาดที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา ทำให้ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเกิดข้อสงสัยว่า เวียดนามจะบรรลุเป้าหมายของการกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าภายในปี 2563 ตามที่ตั้งไว้เมื่อต้นปี โดยกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทได้หรือไม่
ในช่วงเวลา 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีประชาชนหลายสิบคนใน อ.ซอคเซิน ที่อยู่ติดกับ อ.เฝอเย็น จ.ถาย-งเวียน ถูกสุนัขจรจัดกัด ที่หลายตัวตรวจพบว่ามีเชื้อพิษสุนัขบ้า
กรมอนามัยสัตว์ของกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท ระบุว่า ประชากรของประเทศมากกว่า 8.8 ล้านคน ถูกสุนัขติดเชื้อพิษสุนัขบ้ากัด ในช่วงระหว่างปี 2534-2553 และมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 3,500 คน
ในระหว่างปี 2534 และปี 2539 โรคพิษสุนัขบ้าได้คร่าชีวิตผู้คนไปเฉลี่ย 200-300 คนต่อปี ในปี 2554 มีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า 110 คน และในปี 2555 มีผู้เสียชีวิตไปทั้งสิ้น 85 คน
โรคพิษสุนัขบ้าคร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกไปกว่า 55,000 คน ตามรายงานขององค์การอนามัยโลก โดยเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี ตกเป็นเหยื่อของโรคนี้มากที่สุด
เจ้าหน้าที่ อ.ซอคเซิน รายงานว่า ไม่มีรายงานมนุษย์ถูกสุนัขกัด นับตั้งแต่วันที่ 23 ส.ค. และผู้ที่ถูกสุนัขกัดได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าแล้ว ขณะเดียวกัน สัตวแพทย์ท้องถิ่นได้ฉีดวัคซีนให้แก่สุนัข และแมวในพื้นที่ และฉีดพ่นสารกำจัดสิ่งปนเปื้อน นอกจากนั้น หน่วยงานพิเศษได้กำจัดสุนัขจรจัดที่สงสัยว่ามีเชื้อพิษสุนัขบ้าไปแล้ว 25 ตัว
รายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม ระบุว่า ทั่วทั้งประเทศมีสุนัขอยู่ราว 10 ล้านตัว ซึ่งครอบครัวชาวเวียดนามมักเลี้ยงสุนัขไว้เฝ้าบ้าน หรือเป็นอาหาร
ด้านหัวหน้าฝ่ายระบาดวิทยาของกรมอนามัยสัตว์ ของเวียดนาม กล่าวว่า อัตราการฉีดวัคซีนให้แก่สุนัขในปัจจุบันครอบคลุมเพียง 40% เท่านั้น แต่คาดว่าจะครอบคลุมถึง 70% ในปี 2558 และ 100% ในปี 2563
ในการประชุมองค์กรพันธมิตรเพื่อคุ้มครองสัตว์ในเอเชีย (ACPA) ที่จัดขึ้นในกรุงฮานอย ระหว่างวันที่ 23-24 ส.ค. ที่ผ่านมา เพื่อหารือถึงหนทางการปัญหาโรคพิษสุนัขบ้าในภูมิภาค การประชุมได้ยกประเด็นปัญหาการขนส่งสุนัขเพื่อการค้าอย่างผิดกฎหมายระหว่างไทย กัมพูชา ลาว และเวียดนาม ขึ้นหารือ
ต่วน เบนดิกซ์เซ่น ผู้อำนวยการมูลนิธิสัตว์แห่งเอเชียประจำเวียดนาม กล่าวว่า กุญแจในการควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าในภูมิภาคคือ การร่วมมือกันระหว่างรัฐบาลของ 4 ประเทศ เพราะการศึกษาได้แสดงให้เห็นว่า สุนัขที่มีเชื้อพิษสุนัขบ้าเพียง 1 ตัว สามารถเป็นจุดเริ่มต้นของการแพร่ระบาดได้ และมาตรการที่ดีที่สุดในการควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าคือ การฉีดวัคซีนสุนัขในแต่ละประเทศให้ครอบคลุม อย่างน้อย 70% แต่ในปัจจุบันไม่มีประเทศใดบรรลุมาตรฐานดังกล่าว
เบนดิกซ์เซ่น เรียกร้องให้มีการจัดการที่ดียิ่งขึ้นต่อประชากรสุนัขในแต่ละประเทศ รวมทั้งการควบคุมความเคลื่อนไหวของสุนัขทั้งภายในประเทศ และระหว่างประเทศ
“ในปัจจุบัน การค้าสุนัขผิดกฎหมายจากไทยมายังเวียดนาม ผ่านลาว และกัมพูชา ถือเป็นความเสี่ยงสูงของการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า เพราะสุนัขเหล่านี้ (ประมาณระหว่าง 200,000-500,000 ตัวต่อปี) ไม่มีใบรับรองการฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า หรือใบรับรองสุขภาพจากสัตวแพทย์ ตามที่กำหนดในระเบียบการกักกันสัตว์ของเวียดนาม” เบนดิกซ์เซ่น กล่าว
ผู้เชี่ยวชาญหลายคนได้เรียกร้องให้ประชาชนเลิกกินเนื้อสุนัข หลังเกิดความวิตกว่า อาเซียนจะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าภายในปี 2563
จอห์น ดัลลี รองประธาน Soi Dog Foundation ที่มีสำนักงานในไทย กล่าวว่า การรับประทานเนื้อสุนัขมีปรากฏทั่วโลกในช่วงเวลาอดอยาก แต่การรับประทานก็สิ้นสุดลงหลังจากผ่านช่วงเวลาของความอดอยากนั้น
“ไม่พบรายงานการกินเนื้อสุนัขในเวียดนามก่อนปี 2483 เชื่อว่าการกินเนื้อสุนัขถูกนำเข้ามาโดยทหารที่ได้รับการฝึกฝนในจีนระหว่างสงครามกับฝรั่งเศส และสหรัฐฯ และนับแต่นั้นการปฏิบัติก็ยังดำเนินเรื่อยมา” จอห์น ดัลลี กล่าว และเสริมว่า เวียดนามห้ามนำเข้าสัตว์ปีกจากจีนเพราะความเสี่ยงของเชื้อไข้หวัดนก ดังนั้น เวียดนามควรห้ามนำเข้าสุนัขจากประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเช่นกัน
“โรคพิษสุนัขบ้าทำให้เกิดการเสียชีวิตมากกว่าไข้หวัดนก และนั่นจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องห้ามนำเข้าสุนัขที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนเข้ามาในเวียดนาม ไม่ว่าจะเพื่อเป็นอาหาร หรือสัตว์เลี้ยง”
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญหลายคนกล่าวว่า เป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องยุติพฤติกรรมการรับประทานเนื้อสุนัขมากกว่าเพียงแค่การควบคุมการค้า หรือการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม และทางการต้องยึดสุนัข และดำเนินการลงโทษอย่างหนัก เพื่อส่งสารให้ชัดเจนต่อผู้ค้าสุนัขผิดกฎหมายว่ากิจกรรมดังกล่าวไม่เป็นที่ยอมรับ.