ASTVผู้จัดการออนไลน์ - กระทรวงศึกษาธิการและกีฬาของลาว ได้ออกเรียกร้องให้พ่อแม่ผู้ปกครองช่วยเอาใจใส่แนะนำลูกหลานที่ไม่ผ่านการสอบเอนทรานซ์เข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยของรัฐปีนี้ให้เข้าเรียนสาขาวิชาชีพที่จะมีตำแหน่งงานรออยู่ในระยะที่ประเทศกำลังพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคม และแนะนำให้นักเรียนนักศึกษาเรียนวิทยาลัยเทคนิค เนื่องจากตลาดแรงงานมีความต้องการเป็นอย่างมาก
พร้อมๆ กับชักชวนให้นักเรียนนับหมื่นที่พลาดโอกาสในการสอบเอนทรานซ์ปีนี้ เลือกเส้นทางใหม่ ทางการได้ให้คำมั่นที่จะสร้างโอกาสงามให้แก่ผู้ที่เรียนสำเร็จสาขาวิชาชีพที่ยังขาด และลดการเรียนการสอนวิชาที่ไม่ได้รับความนิยม หรือตลาดแรงงานไม่ต้องการลง
การสอบเอนทรานซ์เข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยแห่งชาติประจำปีการศึกษา 2556 ที่เพิ่งจะผ่านไป มีนักเรียนสมัครเข้าสอบเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วราว 2,000 คน เป็นประมาณ 16,000 คน ในนั้น 15,570 คน มีคุณสมบัติครบ สำนักข่าวสารปะเทดลาวรายงานอ้างตัวเลขกระทรวงศึกษาฯ
แต่ไม่ว่าจำนวนนักเรียนที่เข้านั่งสอบจะมากมายเพียงไร มหาวิทยาลัยแห่งชาติรับเข้าศึกษาได้ 6,694 คนเท่านั้น น้อยกว่าปีการศึกษาที่ผ่านมา 800 คน ในจำนวนนี้มี 4,100 คน ที่จะเข้าศึกษาต่อ “วิชาพิเศษ” ต่างๆ ขปล.อ้างการเปิดเผยของ ศ.ดร.คำฟอง นามมะวงไซ ผู้อำนวยการสำนักงานมหาวิทยาลัยแห่งชาติโดยไม่ได้อธิบาย
ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว เปิดสอน 11 คณะวิชา แต่ปีนี้คณะเศรษฐศาสตร์ บริหารธุรกิจและกฎหมาย มีนักเรียนสมัครเข้าสอบมากที่สุดคิดเป็นประมาณ 30% ของผู้สมัครทั้งหมด
การสำรวจโดยกระทรวงศึกษาธิการฯ ได้พบตัวเลขที่สอดคล้องกันคือ เมื่อปีที่แล้ว มีผู้เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรีในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ และเอกชนรวมกันเป็นจำนวน 95,000 คน ในนั้น 30,000 คน เรียนสาขาบริหารธุรกิจ อีก 11,000 คนเรียนกฎหมาย
ปีการศึกษาที่แล้ว มีผู้เลือกเรียนสาขาการขนส่งเพียง 203 คน สาขาคณิตศาสตร์และสถิติ 224 คน และสาขาเหมืองแร่ 337 คน ในขณะที่สาขาเกษตรกรรมกับการประมงมีผู้เข้าเรียน 3,501 คน กระทรวงศึกษาธิการ มีนโยบายที่จะลด หรือเลิกสาขาที่ไม่ได้รับความนิยมเรียนเหล่านี้ เช่นเดียวกับสาขาที่มีแรงงานล้นตลาด
โรงเรียน และสถาบันการศึกษาต่างๆ ในลาวเปิดภาคเรียนใหม่ ปีการศึกษาใหม่ 2556 อย่างเป็นทางการ วันจันทร์ 2 ก.ย.ที่ผ่านมา
ในการปราศรัยเนื่องในโอกาสอันสำคัญนี้ ดร.พันคำ วิพาวัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ได้เน้นย้ำนโยบายที่จะปรับปรุงการศึกษาระดับมัธยมศึกษา และอาชีวศึกษา กับสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ให้เปิดการเรียนการสอนสนองความเรียกร้องต้องการเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เพื่อรับประกันการผลิตทรัพยากรมนุษย์ของลาว
การสำรวจของกระทรวงศึกษาฯ ยังพบว่า ในเมืองหลวงของลาวมีสถาบันการศึกษา จำนวน 54 แห่ง “ขาดคุณสมบัติ” เนื่องจากขาดครูอาจารย์ ขาดผู้สอนที่มีประสบการณ์ หรือจ้างผู้สอนที่ไม่มีคุณวุฒิในสาขาวิชาที่เปิดสอน เป็นของรัฐ 25 แห่ง เอกชน 29 แห่ง สื่อของทางการรายงานโดยไม่ได้พูดถึงการดำเนินการกับสถาบันการศึกษาเหล่านี้.