เรดิโอออสเตรเลีย - สื่อต่างประเทศยังไม่หยุดตีข่าว ช่อง 3 ถอดละคร “เหนือเมฆ 2” กลางอากาศ โดยอ้างมีเนื้อหาที่สุ่มเสี่ยงที่อาจก่อความไร้เสถียรภาพแก่ประเทศ ระบุก่อปฏิกิริยาตอบโต้อย่างดุเดือดจากโลกสังคมออนไลน์ ขณะที่นักวิเคราะห์บอกเรื่องนี้ตอกย้ำถึงประวัติการปราบปรามผู้เห็นต่างในทุกวิธีทางของระบอบการเมืองไทย
สำนักข่าวเรดิโอออสเตรเลียรายงานว่า ละครการเมืองแนวแฟนตาซีเรื่อง “เหนือเมฆ” อันเป็นเรื่องราวของนายกรัฐมนตรีที่ไม่มีตัวตนอยู่จริงซึ่งโดนควบคุมโดยหมอผี ถูกระงับออกอากาศขณะที่เหลืออีกไม่กี่ตอนก็จะจบภาค 2
ช่อง 3 อ้างว่าละครเรื่องนี้สร้างความแตกแยกแก่สังคม และยืนยันว่าการตัดสินใจของพวกเขาไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวเรดิโอออสเตรเลียอ้างคำกล่าวของ ศักดิ์สิทธิ์ ไสยสมบัติิ ผู้สื่อข่าวอิสระบอกว่าเรื่องนี้ก่อปฏิกิริยาโต้ตอบอย่างดุเดือดบนโลกสังคมออนไลน์
“มันแสดงให้เห็นว่าข้อถกเถียงทางการเมืองสามารถปะทุขึ้นได้จากสิ่งเล็กๆ และความโกรธเกรี้ยวต่อการระงับออกอากาศละคนเรื่องนี้คือหนึ่งในเครื่องบ่งชี้เหล่านั้น” เขากล่าว “เวลานี้คำถามคือข้อเท็จจริงของการถอดละครอื้อฉาวทางการเมืองนี้เป็นมาอย่างไร ส่วนผลสะท้อนที่แท้จริงทางการเมืองนั้น ยังคงต้องรอดูต่อไป”
เรดิโอออสเตรเลียรายงานต่อว่า หนึ่งในทฤษฎีที่อยู่เบื้องหลังการถอดละครเรื่องนี้ คือ มันเป็นบทประพันธ์ล้อเลียนความสัมพันธ์ระหว่าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทย กับพี่ชายของเธอ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีผู้หลบหนี ขณะที่ฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลบอกว่าทักษิณยังคงควบคุมน้องสาว และหมอผีในละครก็แสดงถึงนัยความสัมพันธ์ของทั้งสองคน
อย่างไรก็ตาม ดอกเตอร์ นิโคลัส ฟาร์เรลลี ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย มองว่า สำหรับคนไทยจำนวนมากแล้วอาจมีการตีความไปมากกว่านั้น “แม้แต่ในหมู่ผู้นำทางการเมืองของไทยก็ยังคงเชื่อที่เรื่องโชคลาง เราได้ยินคนโยงทักษิณกับไสยศาสตร์มานานหลายปี และแน่นอนว่ามีการปฏิเสธ แต่ข้อเท็จจริงที่เราได้จากกรณีนี้คือ คนไทยส่วนใหญ่ยังคงเชื่อในอำนาจอื่นๆ นอกเหนือจากที่มีอยู่บนโลกนี้”
ด้านพรรคประชาธิปัตย์แสดงความสงสัยว่ารัฐบาลมีส่วนเกี่ยวข้องกับการถอดละครเรื่องนี้ แต่ทางนายศักดิ์สิทธิ์แสดงความเห็นว่าพรรคฝ่ายค้านเสแสร้งเรียกร้องไปอย่างนั้นเอง “ข้อถกเถียงส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากข้อเท็จจริง แต่หนึ่งในภาพใหญ่ที่เห็นๆ กันคือระบบกั่นกรองและแทรกแซงสื่อมวลชนในไทยยังคงมีอยู่” เขากล่าว “ส่วนพรรคฝ่ายค้านก็ควรส่องกระจกมองตัวเองด้วย เพราะตอนที่พวกเขาเป็นรัฐบาลก็มีการแทรกแซงทางการเมืองอย่างมโหฬารเช่นกัน”
ทั้งนี้ เรดิโอออสเตรเลียระบุว่า หากรัฐบาลมีส่วนเกี่ยวข้องกับการถอดละครเรื่องนี้จริง มันก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผลผลิตของวงการบันเทิงถูกกั่นกรองสืบเนื่องจากความอ่อนไหวทางการเมือง โดยดอคเตอร์ นิโคลัส ฟาร์เรลลี บอกว่าในเดือนเมษายน ภาพยนตร์เรื่อง “เชคสเปียร์ต้องตาย” ก็ถูกห้ามฉายด้วยเหตุผลก่อความแตกแยกเช่นกัน
“เป็นเรื่องเศร้าที่ต้องพูดว่า ณ ตอนนี้และตามประวัติศาสตร์เก่าๆ ของประเทศ มีหลายคนที่ยังเคลื่อนไหวปราบปรามใครก็ตามที่รู้สึกว่านำเสนอเนื้อหาใดๆ ที่ก่อความเสียหายแก่ฝ่ายการเมืองของพวกเขา หากสังคมไทยไม่สามารถยอมรับเรื่องอุปโลกน์กิจกรรมทางการเมืองต่างๆ นานานี้ได้ พวกเขาก็ไม่มีทางจัดการกับความท้าทายต่างๆที่ต้องเผชิญในโลกแห่งความจริงได้หรอก มันไม่ใช่โลกบนจอโทรทัศน์”