.
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ไต้ฝุ่นลูกใหญ่ก่อตัวขึ้นในทะเลแปซิฟิกทางตะวันตก-ตะวันออกเฉียงเหนือหมู่เกาะฟิลิปปินส์ ในช่วงข้ามวันที่ผ่านมา และปั่นตัวเองขึ้นเป็นไต้ฝุ่นระดับ 1 (ความเร็วใกล้ศูนย์กลาง 119-153 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ภาพดาวเทียมอุตุนิยมวิทยาแสดงให้เห็นพายุกำลังพัดเอาไอ้น้ำขึ้นคละคลุ้งในมหาสมุทรครอบคลุมอาณาบริเวณกว้างใหญ่ หากเกิดขึ้นใกล้ชายฝั่งเวียดนามเหมือนกับพายุโซนร้อนมังคุดในสัปดาห์ที่ผ่านมา ไต้ฝุ่นอูตอร์สามารถกลืนกินอนุภูมิภาคแม่น้ำโขงได้ทั้งหมด
สำนักพยากรณ์อากาศแห่งต่างๆ ในย่านนี้ชี้ชัดตรงกันว่า อูตอร์ (Utor) กำลังจะปั่นความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางขึ้นเป็นไต้ฝุ่นระดับ 3 (178–208 กม./ชม.)ในอีกไม่ช้า พายุลูกใหญ่เริ่มโชว์สิ่งที่เรียกว่า “นัยน์ตาแห่งพายุ” (Eye of Storm) อันน่าสะพรึงกลัวให้เห็นเช้าตรู่วันอาทิตย์ 11 ส.ค.นี้ ขนาดอันใหญ่โตของมันทำให้ทางการเวียดนามประกาศตั้งรับอย่างเป็นทางการตั้งแต่เมื่อวานนี้
แผนภูมิพยากรณ์ของศูนย์อุตุนิยมวิทยาและอุทกศาสตร์กลางในกรุงฮานอยที่ออกหลายครั้งในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา ล้วนแสดงให้เห็นอูตอร์เคลื่อนตัวถึงบริเวณเกาะไหหลำของจีนในวันที่ 14 ส.ค.นี้ ขณะอ่อนตัวลงเป็นไต้ฝุ่นระดับ 1 แต่แผนภูมิของศูนย์ร่วมเตือนภัยไต้ฝุ่น หรือ JTWC ของกองทัพเรือสหรัฐฯ ได้ลากเส้นไปจนถึงวันที่ 15 ซึ่งคาดว่าในวันนั้นไต้ฝุ่นอ่อนตัวลงเป็นพายุโซนร้อนหลังขึ้นบกในมณฑลไห่หนัน-เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง และกลายเป็นดีเปรสชันเมื่อเคลื่อนเข้าภาคเหนือตอนบนของเวียดนาม
กรมใหญ่เสนาธิการกองทัพเวียดนามประกาศในค่ำวันเสาร์ให้กองเรือในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง จัดเตรียมแผนกู้ภัยครั้งใหม่รับมือไต้ฝุ่นลูกนี้ หนังสือพิมพ์กวนโด่ยเญินซเวิน (Quan Doi Nhan Dan) หรือ “กองทัพประชาชน” รายงานในเว็บไซต์ข่าวภาษาเวียดนาม
สำนักอุตุนิยมวิทยาของฟิลิปปินส์ประกาศเตือนในวันอาทิตย์เช่นกัน ให้ท้องถิ่นต่างๆ ระวังภัยพิบัติที่จะเป็นผลจากฝนตกหนักซึ่งในวันเดียวกันอยู่ห่างจากเกาะใหญ่ลูซอนไปทางตะวันออกเฉียงใต้ราว 160 กม. ความเร็วลมใกล้ศูนย์ถึง 185 กม./ชม. มีรัศมีคลุมพื้นที่ถึง 600 กิโลเมตร ซึ่งจะเป็นไต้ฝุ่นลูกใหญ่ที่สุด แรงที่สุดที่พัดเข้าหมู่เกาะตั้งแต่ต้นปีมานี้ ขณะที่หอสังเกตการณ์ฮ่องกงเรียกอูตอร์เป็น “ไต้ฝุ่นรุนแรง” (Severe Tัyphoon) สำนักข่าวเอเอฟพีรายงาน
สหรัฐฯ ได้เสนอชื่อ “อูตอร์” (Utor) เข้าในบัญชีรายชื่อพายุในย่านแปซิฟิกตะวันตก-ทะเลจีนใต้ ชื่อนี้ถูกบรรจุลงในบัญชีที่ 1 เมื่อปี 2544 โดยคำๆ นี้เป็นภาษาพื้นเมืองในหมู่เกาะมาร์แชลมีความหมายว่า Squall Line หรือ “แนวฝน”
ตามบันทึกขององค์การอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น (JMA) อูตอร์ ได้คิวออกอาละวาดเป็นครั้งแรกต้นเดือน ธ.ค.2549 โดยก่อเกิดในทะเลแปซิฟิกห่างจากจุดกำเนิดของอูตอร์ในสัปดาห์นี้ลงไปทางใต้เพียงเล็กน้อย ก่อนพัดเข้าถล่มเขตวิซายาส (Visayas) หรือหมู่เกาะภาคกลางในฟิลิปปินส์ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 30 ราย อีก 8 คนหายสาบสูญ สร้างความเสียหายให้ประเทศนี้ไปจนถึงมาเลเซีย รวมเป็นมูลค่า 15.8 ล้านดอลลาร์ตามอัตราแลกเปลี่ยนในปีนั้น
ปีโน้นอูตอร์ออกอาละวาดเพียง 2 สัปดาห์หลังจาก “ทุเรียน” (Durian) ไต้ฝุ่นชื่อไทยทำให้ชาวฟิลิปปินส์นับพันคนเสียชีวิต และ “ทุเรียน” ถูกคณะกรรมการไต้ฝุ่นขององค์การเอสแคปพิจารณาถูกถอดชื่อออกจากระบบในการประชุมปลายเดือน ธ.ค.2549 พร้อมกับไต้ฝุ่นอีกหลายลูก รวมทั้งจันจู (Chanchu) กับช้างสาร (Xang Sane) ในปีที่เกิดไต้ฝุ่นในย่านนี้ถึง 15 ลูก พายุโซนร้อนกับพายุโซนร้อนรุนแรง (Severe Tropical Storm) อีก 8 ลูก ซึงนับว่ามากเป็นประวัติกาลทั้งในด้านจำนวนและความสูญเสียที่เกิดกับชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนในย่านนี้
ในปีต่อมาคณะกรรมการฯ ได้เลือกชื่อ “มังคุด” เข้าใช้แทนชื่อ “ทุเรียน” และมังคุดได้ออกงานแรกในสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้น้ำท่วมกรุงฮานอยเป็นเวลา 2 วัน ชาวเวียดนามเสียชีวิตอย่างน้อย 10 คนในหลายจังหวัดที่พายุเคลื่อนตัวผ่าน ทั้งนี้ เป็นรายงานของสื่อทางการ
อูตอร์อยู่มาจนถึงวันนี้ แต่อนาคตของไต้ฝุ่นระดับ 3 ลูกล่าสุดนี้ ย่อมขึ้นอยู่กับผลงานในสัปดาห์นี้เช่นกัน.
.