เอเอฟพี - พม่าได้ทบทวนข้อตกลงการก่อสร้างเหมืองทองแดงที่เป็นข้อถกเถียงกับบริษัทจีน เจ้าหน้าที่เปิดเผยวันนี้ (25) หลังเกิดการชุมนุมประท้วงหลายระลอกต่อต้านโครงการที่นำมาซึ่งการปราบปรามอย่างรุนแรงโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ
ข้อตกลงใหม่ระบุให้รัฐบาลพม่าถือครองส่วนแบ่ง 51% ของรายได้ทั้งหมด นายมี้นต์ อ่อง รัฐมนตรีกระทรวงเหมืองแร่ กล่าวกับรัฐสภา ในความพยายามที่จะผ่อนคลายความไม่พอใจของสาธารณชน โดยให้ส่วนแบ่งกำไรกับประเทศ
บริษัทวานเป่า ของจีน จะได้รับส่วนแบ่ง 30% ของรายได้จากเหมืองลัตปะโด่ง ขณะที่บริษัทเมียนมาร์ อีโคโนมิค โฮลดิ้ง (MEH) ของกองทัพทหารพม่า จะถือครองส่วนแบ่ง 19%
เหมืองที่เมืองโมนีวาในภาคกลางของประเทศแห่งนี้ ก่อนหน้าเป็นเพียงการร่วมทุนระหว่างบริษัทวานเป่าและ MEH
นอกจากกำหนดส่วนแบ่งรายได้แล้ว บริษัทวานเป่าจะจัดสรรเงินหลายร้อยล้านดอลลาร์ต่อปีดำเนินกิจกรรมรับผิดชอบต่อสังคม และเพื่อดำเนินการบุกเบิกเหมืองในขั้นสุดท้าย
การจู่โจมที่ผิดพลาดต่อการชุมนุมประท้วงที่เหมืองทองแดงเมื่อเดือนพ.ย. ปีก่อน สร้างความไม่พอใจให้กับประชาชน หลังเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ฟอสฟอรัสเข้าสลายผู้ชุมนุมประท้วง ที่นับเป็นการปราบปรามการชุมนุมที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่สิ้นสุดการปกครองของทหาร
เหตุสลายการชุมนุมครั้งนั้น ทำให้มีพระสงฆ์และชาวบ้านหลายสิบคนได้รับบาดเจ็บ
แม้แต่นางอองซานซูจี ผู้นำฝ่ายค้าน ที่มักได้รับความเคารพในทั่วประเทศ ก็ถูกตะโกนต่อว่าจากบรรดาชาวบ้านเมื่อช่วงต้นปี หลังนางแนะนำให้เหมืองดำเนินการต่อ แม้จะมีความวิตกเกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการยึดที่ดินก็ตาม
ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในบริเวณเหมืองกล่าวว่า พวกเขาจะต่อต้านโครงการต่อไป
"ความตั้งใจของเราคือการหยุดโครงการเหมืองอย่างสมบูรณ์" ซาน หม่อง ชาวนาในพื้นที่ กล่าว
"เราจะชุมนุมประท้วงหากจำเป็น เราพึ่งพาภูเขาลูกนี้เพื่อดำรงชีวิต เราจะต่อต้านเหมืองเพราะมันไม่มีความโปร่งใส" ชาวนาคนเดิม กล่าว
นักเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิมนุษยชนได้แสดงความวิตกกังวลต่อการจับกุมนักเคลื่อนไหวที่ต่อต้านเหมืองในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา แม้ว่าประธานาธิบดีเต็งเส่งจะให้คำมั่นว่าจะปล่อยนักโทษการเมืองทั้งหมดภายในสิ้นปีนี้.