.
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ทางการลาวได้ออกแผนการบูรณปฏิสังขรณ์หอพระแก้วเวียงจันทน์ ซึ่งเคยเป็นวัดเก่าแก่คู่ราชบัลลังก์อดีตกษัตริย์ และเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต หรือ พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ซึ่งปัจจุบันอยู่ในสภาพทรุดโทรมเนื่องจากผุพังในหลายจุด หลังจากเวลาผ่านไป 70 ปี นับตั้งแต่ก่อสร้างขึ้นใหม่ครั้งล่าสุดในยุคอาณานิคม และผ่านการบูรณะย่อยมาครั้งหนึ่งเมื่อ 20 ปีที่แล้ว
การบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งนี้อาจจะต้องใช้งบประมาณถึง 7,000 ล้านกีบ (27.7 ล้านบาท) สำนักข่าวสารปะเทดลาวสื่อของทางการรายงานอ้างผลการสำรวจและประเมินโดยคณะกรรมการชุดหนึ่งหลังจากได้ลงเก็บข้อมูลข้อเท็จจริงในพื้นที่
“โครงการปฏิสังขรณ์หอวัดพระแก้ว รวมเป็นงาน 3 แขนงใหญ่เพื่อปรับปรุงสภาพที่ทรุดโทรมอันเกิดมาจากการก่อสร้างเป็นเวลาหลายทศวรรษ ถ้าอิงตามการสำรวจตรวจตราเก็บข้อมูลทางด้านวิชาการ และคิดประเมินมูลค่าปฏิสังขรณ์จะต้องใช้งบประมาณถึง 7,000 ล้านกีบ” ขปล.กล่าว
การลงเก็บข้อมูลจากสถานที่จริงระหว่างวันที่ 2-5 ก.ค.ที่ผ่านมา ได้พบจุดที่จะต้องซ่อมแซมซึ่งประกอบด้วย ส่วนหลังคาที่ผุกร่อนถึง 80% ต้องปรับเปลี่ยนกระเบื้องดินเผามุงหลังคาที่รั่วซึมเวลาฝนตก จะต้องเปลี่ยนกระเบื้องใหม่ถึง 50% ที่เหลือของเดิมยังมีสภาพดี และอาจจะต้องทำช่อฟ้าใหม่โดยรักษารูปร่างเดิม และต้องติดตั้งสายล่อฟ้ากันฟ้าผ่าเพิ่มเติม
โครงเพดานของหอพระแก้วยังมีสภาพดี เพียงแต่มีแผ่นไม้เพดานในบางบริเวณที่โป่งพอง นอกจากนั้น ภาพเขียนบนเพดาน และลวดลายวิจิตรต่างๆ มีสภาพเลือนราง เนื่องจากสีซีดจางลง มองเห็นไม่ชัดต้องเขียน หรือระบายสีใหม่ ตัวอาคารจะต้องซ่อมแซมบานประตู ซุ้มหน้าต่าง แท่นพระประธาน ซ่อมแซมระเบียง ฯลฯ ซึ่งการฟื้นฟูบูรณปฏิสังขรณ์ทั้งหมดนี้จะให้แล้วเสร็จในปี 2558 ขปล.กล่าว
ตามประวัติศาสตร์ของฝ่ายลาวพระแก้วมรกตประดิษฐานอยู่ในเวียงจันทร์เป็นเวลากว่า 200 ปีนับตั้งแต่สมเด็จพระเจ้าไซเสดถาทิลาด (ไชยเชษฐาธิราช) มีพระราชประสงค์ให้สร้างวัดพระแก้วขึ้นในปีพ.ศ.2108 เพื่อให้เป็นพระอารามหลวงและเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตที่ทรงอัญเชิญไปจากนครเชียงใหม่ (ล้านนา) เมื่อต้องเสด็จฯ กลับไปครองนครจันทะบูลีศรีสตนาคนหุต
แต่ก็เป็นเวลากว่า 230 ปีมาแล้วที่ภายในหอพระแก้วเหลือเพียงแท่นประดิษฐานส่วนพระแก้วมรกตถูกอัญเชิญไปประทับที่กรุงธนบุรีในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี โดยสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก
.
2
3
4
กองทัพสยามได้อัญเชิญพระแก้วมรกตไปจากเวียงจันทน์ในปี พ.ศ.2322 และทรงประดิษฐานที่วัดแห่งหนึ่งใกล้กับวัดอรุณราชวรารามฝั่งธนบุรีเป็นเวลา 5 ปี ก่อนจะอัญเชิญไปประดิษฐานที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสถาปนากรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงแห่งใหม่
ตามประวัติศาสตร์ของฝ่ายลาว วัดพระแก้วเวียงจันทน์ถูกกองทัพสยามเผาทำลายถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีและครั้งหลังในสงครามปี พ.ศ.2371-2372 ที่นักประวัติศาสตร์ฝ่ายสยามเรียกว่า “สงครามปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์” ในรัชสมัยสมเด็จพระมหาเจษฎาราชเจ้า พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3
หลังถูกเผาทำลายโดยกองทัพสยามในสมัยกรุงธนบุรี พระเจ้าอนุวงศ์ได้ทรงให้ก่อสร้างวัดพระแก้วขึ้นใหม่เป็นครั้งแรกเมื่อเสด็จกลับจากกรุงเทพฯ ไปครองกรุงเวียงจันทน์ ก่อนจะถูกเผาทำลายอีกครั้งหนึ่งโดยกองทัพสยามสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ภาพที่บันทึกเอาไว้โดยชาวฝรั่งเศสในอีกกว่า 100 ปีถัดมา แสดงให้เห็นวัดพระแก้วกลายเป็นเพียงซากที่เหลือจากไฟไหม้ เสาสีดำตั้งโด่อยู่บนฐานรากที่เป็นเถ้าถ่าน
การก่อสร้างขึ้นใหม่ครั้งที่ 3 ดำเนินการโดยผู้ปกครองชาวฝรั่งเศสระหว่างปี พ.ศ.2479-2485 ในยุคที่ลาวเป็นดินแดนอาณานิคมภายใต้การกำกับดูแลของเสด็จฯ เจ้าสุวันนะพูมา ที่ทรงสำเร็จการศึกษาสาขาวิศกรรมศาสตร์จากกรุงปารีสและต่อมาทรงเป็นนายกรัฐมนตรีของราชอาณาจักรลาวเป็นเวลาสั้นๆ หลังจากได้รับเอกราช
หลังจากนั้น วัดพระแก้วได้ตกอยู่ในสภาพที่ขาดการเอาใจใส่เป็นเวลาหลายสิบปีเนื่องจากความขัดแย้งทางการเมืองภายในและประเทศเข้าสู่ภาวะสงคราม จนกระทั่งมีการบูรณะแบบ “ซ่อมเล็ก” อีกครั้งหนึ่งเมื่อปี พ.ศ.2536 โดยทางการลาวยุคใหม่ซึ่งอยู่ต่อมาในสภาพที่เห็นอยู่ปัจจุบัน
หอพระแก้วไม่ได้มีสภาพเป็นวัดอีกแล้วแต่เป็น “หอพิพิธภัณฑ์” ที่ใช้เก็บพระพุทธรูปศิลปะล้านช้างที่มีพุทธลักษณ์งดงามหลายองค์ กับโบราณวัตถุล้ำค่าอีกจำนวนมาก ตั้งอยู่ริมถนนเสดถาทิลาดติดบริเวณหอคำทำเนียบประธานประเทศ เยื้องกันอีกฝั่งหนึ่งของถนนเป็นวัดสีสะเกดซึ่งเป็นวัดเก่าแก่เพียงแห่งเดียวที่รอดพ้นรอดพ้นจากการเผาทำลายครั้งที่ 2 โดยกองทัพสยาม
ในช่วงปี 2551-2552 ทางการลาวได้ฟื้นฟูบูรณะหอไตรวัดสีสะเกดที่มีสภาพทรุดโทรมขึ้นใหม่เป็นการร่วมฉลองครบรอบ 450 ปี การก่อตั้งนครเวียงจันทน์ ปัจจุบันเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมอีกแห่งหนึ่งในเมืองหลวงของลาวเช่นกัน.
5
6
7
8
9
10