หนองคาย - พบพระพุทธรูปบุเงินบุทองในไหฝังไว้กลางทุ่งนา อ.สังคม ชาวบ้านขุดดินทำคันนาเห็นถึงกับผงะ นับได้ทั้งองค์สมบูรณ์และไม่สมบูรณ์รวม 75 องค์ นายอำเภอประสานเจ้าหน้าที่ศิลปากรตรวจสอบ คาดเป็นศิลปะยุคเดียวกับอาณาจักรล้านช้างรุ่งเรือง
เมื่อเวลา 14.00 น. วันนี้ (17 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่ามีการขุดพบพระพุทธรูปสมัยโบราณกลางทุ่งนาและสวนยางพาราของนางเสี่ยน สามีวัง อายุ 59 ปี อยู่บ้านเลขที่ 26 หมู่ 5 บ้านนาบอน ต.นางิ้ว อ.สังคม จ.หนองคาย เมื่อไปถึงก็พบว่ามีชาวบ้านจำนวนมาก มุงดูพระพุทธรูป และพากันวิพากษ์วิจารณ์ และถ่ายภาพเก็บไว้ โดยมีนายสุชัย ตั้งชูพงศ์ นายอำเภอสังคม คอยดูแลความเรียบร้อยด้วยตัวเอง
นางเสี่ยนกล่าวว่า เมื่อเวลาประมาณ 07.00 น. นายสุรพล สำเภา อายุ 36 ปี ลูกชายของตน ได้นำจอบไปขุดทำคันดินที่ทุ่งนาห่างจากกระท่อมนาประมาณ 50 เมตร ตนกับสามีกำลังกินข้าวเช้าอยู่ ไม่นานนายสุรพลก็วิ่งมาตามบอกว่าขุดเจอไหในดิน พวกตนจึงพากันไปดู และนำจอบเสียมช่วยกันขุด ก็พบไหกระเบื้องดินเผา 2 ใบ สูงประมาณ 50 เซนติเมตร ถูกฝังอยู่ในดินลึกประมาณ 1.5 เมตร ปากไหมีแผ่นโลหะคล้ายฉาบปิดอยู่
ภายในไหทั้งสองใบพบพระพุทธรูปบุเงินบุทองบรรจุอยู่ โดยมี 3 ขนาด ความสูง 15 เซนติเมตร หน้าตัก 3 เซนติเมตร ขนาดความสูง 17 เซนติเมตร หน้าตัก 5 เซนติเมตร และขนาดความสูง 20 เซนติเมตร หน้าตัก 7 เซนติเมตร โดยพระพุทธรูปที่พบมีทั้งหมด 75 องค์ เป็นองค์ที่สมบูรณ์ 42 องค์ ไม่สมบูรณ์เศียรขาดหรือฐานหัก 26 องค์ มีเฉพาะฐานไม้โหรง 7 อัน หลังจากนั้นได้แจ้งให้เพื่อนบ้านและทางการทราบ
นางเสี่ยนยังกล่าวอีกว่า เมื่อคืนฝันว่ามีคนมาบอกว่าจะให้โชค จะนำสิ่งดีๆ มาให้ แต่ไม่ได้บอกว่าเป็นอะไร จนกระทั่งมาขุดพบไหบรรจุพระพุทธรูปเหล่านี้ ก็เชื่อว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์มีจริง มาให้โชคแก่ตนเอง และครอบครัว
ด้านนายสุชัย ตั้งชูพงศ์ นายอำเภอสังคม กล่าวว่า ได้ประสานกับเจ้าหน้าที่ศิลปากรที่ 9 จ.ขอนแก่น ให้มาตรวจสอบพระพุทธรูปเหล่านี้แล้ว โดยคณะจะเดินทางมาในวันที่ 18 กรกฎาคม หลังจากนี้จะนำไปเก็บไว้ที่ อบต.นางิ้ว แล้วจัดเจ้าหน้าที่ดูแล และให้ตัวแทนชาวบ้านที่เชื่อถือได้เฝ้าพระพุทธรูปร่วมกับทางการ
เบื้องต้นสันนิษฐานว่าพระพุทธรูปที่พบนี้น่าจะเป็นพระที่เรียกว่าพระบุเงินบุทอง พบมากสมัยอาณาจักรล้านช้างรุ่งเรือง และเป็นที่นิยมของชาวลาว ก่อนหน้านี้เคยมีการขุดพบพระพุทธรูปลักษณะเช่นนี้ที่วัดพระธาตุบังพวน ต.พระธาตุบังพวน อ.เมือง จ.หนองคาย ในปี 2517 และปี 2535 เมื่อครั้งที่ทางวัดบูรณปฏิสังขรณ์พระธาตุ และโบราณสถานภายในวัด