xs
xsm
sm
md
lg

ไทย-พม่า-ลาว-จีน นัดเปิดเวทีน้ำโขง 4 ชาติพรุ่งนี้ ถกแผนช่วยเหลือผู้ประสบภัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชียงราย - คณะกรรมการลุ่มน้ำโขง 4 ชาติ ไทย-พม่า-ลาว-จีน นัดเปิดเวทีหารือร่วม ที่สามเหลี่ยมทองคำพรุ่งนี้ 27-30 มี.ค. ถกแผนช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางเรือ ก่อนลงนามความร่วมมือ

วันนี้ (26 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.เชียงราย ว่าระหว่างวันที่ 27-30 มีนาคม นายศรศักดิ์ แสนสมบัติ อธิบดีกรมเจ้าท่า จะเดินทางไปเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการประสานงานดําเนินการตามความตกลงว่าด้วยการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ไทย-พม่า-ลาว-จีน หรือเจซีซีซีเอ็น (The Joint Committee on Coordination of Commercial Navigation on the Lancang-Mekong River Among CHINA , LAO PDR , MYANMAR AND THAILAND : JCCCN) ที่อิมพีเรียล โกลเด้น ไทรแองเกิ้ล รีสอร์ท สามเหลี่ยมทองคำ บ้านสบรวก หมู่ 1 อ.เชียงแสน จ.เชียงราย

โดยเป็นการประชุมตามวาระที่หมุนเวียนกันจัดขึ้นในแต่ละชาติสมาชิก ซึ่งพม่าและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชน (สปป.) ลาว จะส่งผู้บริหารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเดินเรือเข้าร่วม ขณะที่ประเทศจีนมีคณะกรรมการจากยูนนาน ที่ขึ้นตรงกับรัฐบาลกลางกรุงปักกิ่ง ขณะที่ไทยมีกรมเจ้าท่าเป็นเจ้าภาพ

นายทรงกลด ดวงหาคลัง ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 1 สาขาเชียงราย กล่าวว่า เนื้อหาการประชุมครั้งนี้เน้นไปที่เรื่องการร่วมมือกันกรณีมีผู้ประสบภัยในแม่น้ำโขง เช่น เรือเกิดอุบัติเหตุ เรือชนกัน เรือติดสันดอนทราย หรือเรื่องฉุกเฉินอื่นๆ ภายใต้ข้อตกลงใหญ่แยกส่วนจากการดูแลรักษาความปลอดภัย หรือการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ซึ่งปัจจุบันมีการจัดตั้งเป็นศูนย์ปฎิบัติการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดในแม่น้ำโขง (ศปปข.) อยู่แล้ว จากนั้นจะมีการบันทึกร่วมเป็นข้อตกลงที่ใช้ปฏิบัติร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การตั้งศูนย์วิทยุเพื่อการสื่อสารกัน การแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย

สำหรับข้อตกลงว่าด้วยการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง เกิดขึ้นเมื่อรัฐมนตรีคมนาคมของจีน สปป.ลาว พม่า และไทย ได้ลงนามในความตกลงเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2543 เพื่อพัฒนาการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าระหว่างประเทศภาคี ส่งเสริมและอำนวยความสะดวกต่อการค้าและการท่องเที่ยว ตลอดจนส่งเสริมและสร้างความร่วมมือด้านการเดินเรือพาณิชย์ บนพื้นฐานของอธิปไตยความเท่าเทียมกัน และผลประโยชน์ร่วมกัน

ซึ่งประเทศภาคีได้เปิดเดินเรือตามข้อตกลงดังกล่าวอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2544 ต่อมาจึงได้มีการลงนามเพื่อจัดตั้งกลไกลประสาน คือเจซีซีซีเอ็น ประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากแต่ละประเทศ ประเทศละ 8 คน สำหรับประเทศไทยมีการจัดตั้งคณะกรรมการเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2544 โดยกำหนดให้อธิบดีกรมกรมเจ้าท่าเป็นประธานโดยตำแหน่ง มีการประชุมปีละ 1 ครั้ง แต่ละประเทศจะหมุนเวียนกันทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยจัดประชุม 2 ปีต่อครั้ง



กำลังโหลดความคิดเห็น