.
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - กองทัพอากาศฟิลิปปินส์ ได้ให้ความสนใจอย่างยิ่งต่อ JAS-39 “กริพเพน” เครื่องบินรบยุคที่ 4+ ในขณะที่รัฐบาลประธานาธิบดีเบนิกโน อะคีโน (Benigno Aquino) ประกาศจะพัฒนากำลังทางอากาศให้ทันสมัยภายในไม่กี่ปีข้างหน้านี้ และหลายฝ่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งเหล่านักบินของทัพฟ้ามองว่า เครื่องบินรบของสวีเดนมีความเหมาะสมอย่างยิ่ง
การสำรวจความคิดเห็นโดยสำนักข่าวฟิลิปปินส์ หรือ PNA (Philippines News Agency) พบว่านักบินส่วนใหญ่ของกองทัพอากาศเทใจให้แก่ JAS-39 กริพเพน เนื่องจากประสิทธิภาพสูง และค่าบำรุงรักษาตลอดจนค่าใช้จ่ายต่อการปฏิบัติการต่ำกว่ารุ่นอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประสิทธิภาพของอาวุธนำวิถียิงระยะไกล สำนักข่าวของทางการรายงาน
นักบินกองทัพอากาศกล่าวว่า พอใจที่จรวดนำวิถีของกริพเพนสามารถยิงเป้าหมายที่อยู่ไกลออกไปถึง 80 กิโลเมตรได้อย่างแม่นย่ำ
เครื่องบินรบที่ผลิตโดยกลุ่มซาบ (Saab Group) แห่งสวีเดน สามารถทำความเร็วได้สูงถึง 1,552 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สามารถครอบคลุมเขตน่านน้ำ และแดนดินของประเทศหมู่เกาะใหญ่แห่งนี้ได้ นักบินส่วนใหญ่ให้ความเห็น
กลุ่มซาบได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมงานประชุมสัมมนาประจำปีของกองทัพอากาศฟิลิปปินส์ ซึ่งจัดขึ้นที่ศูนย์การค้าแห่งหนึ่งในเมืองปาไซ (Pasay City) กรุงมะนิลา เมื่อเดือนที่แล้ว และได้ช่วยแนะนำให้ทุกฝ่ายได้รู้จัก JAS-39 กริพเพนดียิ่งขึ้น
ผู้ผลิตจากสวีเดนกล่าวว่า นอกจากระบบอาวุธที่สามารถยิงทำลายทั้งเครื่องบิน และเรือรบข้าศึกได้อย่างแม่นยำแล้ว กริพเพน ยังมีราคาที่ต่ำกว่าเครื่องบินรบในระดับเดียวกันโดยทั่วไป คือลำละประมาณ 60 ล้านดอลลาร์ ขณะที่รุ่นอื่นอาจจะถึง 80 ล้านดอลลาร์ หรือสูงกว่าอีก
นักบินส่วนใหญ่บอกแก่ PNA ว่า พวกตนต้องการเครื่องบินรบอเนกประสงค์ที่ใช้งานง่าย และใช้ได้หลากหลายภารกิจ รวมทั้งมีค่าโสหุ้ยต่ำเช่น กริพเพน ซึ่งปัจจุบันมีใช้ในหลายประเทศ รวมทั้งกองทัพอากาศไทยที่เป็นแห่งแรกในกลุ่มอาเซียน ไทยได้จัดซื้อไปจำนวน 12 ลำ และพึงพอใจกริพเพนอยู่ไม่น้อย
กองทัพอากาศมาเลเซีย อยู่ระหว่างการจัดซื้อจัดหาเครื่องบินรบรุ่นใหม่ จำนวน 18 ลำ เพื่อทดแทนฝูงมิก-29 ที่ใช้มานานเกือบ 20 ปี และมีค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาสูงมาก กริพเพน เป็น 1 ใน 5 รุ่นที่มาเลเซียคัดเลือกเพื่อพิจารณา เช่นเดียวกับ F/A-18E ราฟาล (Rafale) ยูโรไฟต์เตอร์ “ไต้ฝุ่น” (Typhoon) และ Su-30 ของรัสเซีย
กลุ่มซาบกล่าวว่า กริพเพน โดดเด่นที่สุดในเรื่องความคุ้มกับราคา และค่าใช้จ่ายจ่าย และปฏิบัติการได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติการเชิงเดี่ยว หรือเป็นส่วนหนึ่งในระบบป้องกันที่ใหญ่โตกว้างขวางก็ตาม
ปัจจุบัน กองทัพอากาศสวีเดนมีกริพเพนรุ่นต่างๆ ประจำถึง 200 ลำ นอกจากไทยแล้ว ก็ยังมีใช้ในอีกหลายประเทศทั้งซื้อขาด และเช่า รวมทั้งกองทัพอากาศแอฟริกาใต้ จำนวน 26 ลำ สาธารณรัฐเช็ก 14 และฮังการี 14 นอกจากนั้น กองทัพอากาศสหราชอาณาจักร ยังใช้กริพเพนไม่ทราบจำนวนสำหรับฝึกนักบินไอพ่น
ซาบแถลงในวันพุธ 3 ก.ค.ว่า ได้เริ่มประกอบกริพเพ่นยุคใหม่ หรือ “กริพเพน E” (กริพเพนยุคใหม่/Next Generation) ซึ่งมีขั้นตอนที่สลับซับซ้อน โดยใช้เครื่องมือ และวิธีการทันสมัยที่สุด และหลังจาก “การวิจัยและพัฒนาอันเข้มงวด” ซาบใช้เจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ กว่า 1,000 คน ในการพัฒนา สร้างและประกอบกริพเพน-อี บริษัทผู้ผลิตกล่าวในคำแถลงฉบับหนึ่งที่ออกจากสำนักงานใหญ่ในกรุงสตอกโฮล์ม
เครื่องต้นแบบที่ใช้รหัสเรียก “39-8” ผลิตออกมาเพื่อแสดงความสมบูรณ์แบบก่อนจะเริ่มเดินสายการผลิตออกสู่ตลาด และ กริพเพน-อี สมบูรณ์แบบลำแรกนี้ จะเป็นเครื่องที่ติดตั้งอุปกรณ์เซ็นเซอร์ต่างๆ ยุคใหม่ทั้งหมด รวมทั้งระบบเชื่อมโยงการสื่อสารใหม่ ระบบควบคุมการบินที่ล้ำยุค ติดเครื่องยนต์ที่ให้แรงบิดสูงขึ้น ประหยัดเชื้อเพลิงมากขึ้น ทำให้บินได้ระยะทางไกลขึ้น นอกจากนั้น ยังมีจุดติดอาวุธมากขึ้น บรรทุกน้ำหนักได้มากขึ้น ห้องนักบินเป็นระบบดิจิตอลที่ใช้จอแสดงผลแบบ “เฮด-อัป” (Head-Up Display) รวมทั้งติดตั้งระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ใหม่ล่าสุด กลุ่มซาบกล่าว
เครื่องต้นแบบ “39-8” ออกแบบขึ้นจากกริพเพนรุ่นเดิม แต่จะเป็นเครื่องบินรบที่แสดงฟีเจอร์ใหม่ๆ และขีดความสามารถต่างๆ ซึ่งเต็มไปด้วยสิ่งใหม่ๆ อันเป็น “การก้าวกระโดดทางเทคนิค” หลังจากที่กลุ่มซาบนำกริพเพ่น อี/เอฟ ซึ่งเป็นเครื่องสาธิต ออกแสดงให้เป็นที่ประจักษ์มาแล้วตั้งแต่ต้นปีจน ปัจจุบันมีชั่วโมงบินรวมกว่า 250 ชั่วโมง
กลุ่มซาบออกแถลงเมื่อวันที่ 1 ก.ค.ว่า การทดลองยิงจรวดมีทีออร์ (Meteor) “ผีพุ่งไต้” จาก JAS-39 ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม โดยร่วมกับองค์การวัสดุอุปกรณ์กลาโหมของสวีเดน และได้เริ่มผลิตจรวดต่อสู้อากาศยานควบคุมด้วยเรดาร์ แบบยิงจากอากาศสู่อากาศรุ่นนี้แล้ว
“กริพเพนจึงเป็นเครื่องบินรบรุ่นแรกในโลกที่มีขีดความสามารถในการยิงจรวดมีทีออร์เวอร์ชันนี้” ที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้กับกริพเพน ยูโรไฟเตอร์ (อังกฤษ) และราเฟล (ฝรั่งเศส) กลุ่มซาบกล่าว
การทดลองยิงจรวดมีทีออร์ 2 ลูกจากกริพเพน จัดขึ้นวันที่ 30 มิ.ย.2556 จรวดทำลายเป้าหมายที่อยู่ห่างไกลออกไปอย่างแม่นยำ “ซึ่งแสดงให้เห็นประสิทธิภาพอันยอดเยี่ยมในการเชื่อมสัญญาณติดต่อกันระหว่างเครื่องบินกับจรวด ตลอดจนขีดความสามารถในการล็อกเป้าหมายของจรวด”
นอกจากนั้น ยังเป็นการทดลองอุปกรณ์ควบคุมใหม่ที่พัฒนาขึ้นมาสำหรับนักบินของกริพเพน กับระบบเรดาร์ PS05 ของซาบ ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถติดตั้งบนกริพเพนซีและดี ได้ทันที นายไมเคิล โอสเตอร์เกรน ผู้อำนวยการโครงการทดลองนี้กล่าวในคำแถลงของซาบ
มีทีออร์ เป็นจรวด BVRAAM (Beyond Visual Range Air-to-Air Missile) ใช้ยิงทำลายเป้าหมายที่อยู่พ้นระยะสายตาในระยะไกลออกไป ระบบจรวดมีทีออร์เกิดจากการวิจัยและทดลองร่วมกันของหน่วยงานกลาโหมของหลายประเทศยุโรปคือ สวีเดน ฝรั่งเศส อิตาลี สเปน เยอรมนี และอังกฤษ
.
2
.
สำหรับฟิลิปปินส์ยังไม่มีรายงานในรายละเอียดขณะนี้ว่า จะดำเนินขั้นต่อไปอย่างไร ในการจัดซื้อจัดหาอากาศยานต่างๆ ในแผนการพัฒนากองทัพอากาศแบบก้าวกระโดด
ระหว่างปราศรัยเนื่องในวันครบรอบปีที่ 66 กองทัพอากาศ วันที่ 2 ก.ค.ที่ผ่านมา ปธน.อะคีโน ได้ให้คำมั่นว่า ก่อนจะครบวาระในปี 2559 รัฐบาลจะพัฒนายกระดับกองทัพอากาศของชาติให้ทันสมัยทัดเทียมกับประเทศเพื่อนบ้านในย่านนี้ โดยจะจัดงบประมาณก้อนใหญ่จัดซื้อเครื่องบินรบ เครื่องบินสนับสนุน ตลอดจนระบบป้องกันต่างๆ
ปธน.อะคีโน หรือ “นอย นอย” กล่าวโทษรัฐบาลชุดก่อนๆ ที่ “มัวแต่เมาอำนาจ หลงใหลในอำนาจวาสนาทางการเมือง” จนละเลยการพัฒนาขีดความสามารถในการป้องกันประเทศ
“ขอให้มั่นใจได้ว่า ก่อนที่ข้าพเจ้าจะพ้นจากตำแหน่ง ท้องฟ้าของเราจะประกอบด้วยสิ่งทันสมัยใหม่ๆ เช่น เครื่องบินรบรุ่นใหม่ เครื่องบินลาดตระเวนระยะไกล ระบบสนับสนุนทางอากาศ เครื่องขนส่งปีกตึงขนาดเล็กขนาดกลาง เฮลิคอปเตอร์โจมตี เฮลิคอปเตอร์เพื่อการรบชนิดอื่นๆ และเครื่องฝึกสำหรับนักบิน” นายอะคีโนกล่าว
รัฐบาลฟิลิปปินส์ประกาศในเดือน ก.พ.ปีนี้ เกี่ยวกับโครงการจัดซื้อเครื่องบินรบแบบ FA-50 ที่ผลิตในเกาหลี สำหรับใช้ในภารกิจฝึกบิน ป้องกันการลักลอบเข้าเมืองและรับมือกับภัยพิบัติต่างๆ
ปธน.อะคีโกล่าวว่า รัฐบัญญัติการพัฒนากองทัพอากาศที่รัฐสภาอนุมัติแล้ว ทำให้รัฐบาลสามารถจัดงบประมาณเพื่อการนี้ได้ถึง 75,000 ล้านเปโซ (กว่า 1,727 ล้านดอลลาร์) ตลอดระยะ 5 ปีข้างหน้า
สื่อในฟิลิปปินส์มักจะล้อเลียนกองทัพอากาศ (Air Force) อยู่เสมอๆ ว่า เป็นกองทัพที่มีแต่ “แอร์” ไม่มี “ฟอร์ซ” หลังจากปลดระวางประจำการเครื่องบิน F-5 ที่ผลิตในสหรัฐฯ เมื่อปี 2545 ตั้งแต่นั้นมาก็ยังไม่เคยจัดซื้อเครื่องบินรบใดๆ อีก
ผู้นำฟิลิปปินส์ได้ตอกย้ำความจำเป็นที่จะต้องทำให้กองทัพอากาศพัฒนาอย่างเต็มกำลัง เพื่อช่วยให้รัฐบาลสามารถ “ป้องกันดินแดนของเรา และให้ชาวฟิลิปปินส์รู้สึกมีความมั่นคงปลอดภัยมากขึ้นต่อการรุกรานของต่างชาติ หรือพวกที่พยายามกดดัน และทำให้ช็อก” สื่อในประเทศนี้รายงาน.
.
3
4
5
6
7