.
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - พิพิธภัณฑ์แห่งความทรงจำช่องเขาขาด (Hellfire Pass Museum) ของไทยที่ จ.กาญจนบุรี เป็นพิพิธภัณฑ์เพียงแห่งเดียวในประเทศไทย ที่ได้รับคะแนนโหวตจากท่องเที่ยวทั่วโลก ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ดีที่สุดแห่งหนึ่งในย่านเอเชีย โดยอยู่ในอันดับ 10 จากทั้งหมด 25 แห่ง ในการจัดอันดับโดย TripAdviser.Com เว็บไซต์ข้อมูลข่าวสารเพื่อการท่องเที่ยว ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
จากผลการโหวตของนักท่องเที่ยว “นับล้านคน” จากทั่วโลก พิพิธภัณฑ์ช่องเขาขาดได้คะแนนมากเป็นอันดับ 4 ในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถัดจากพิพิธภัณฑ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่ตูลสะแลง (Toul Sleng) กรุงพนมเปญ กัมพูชาซึ่งอยู่ในอันดับ 3 ของเอเชีย พิพิธภัณฑ์สงคราม (War Remnants Museum) นครโฮจิมินห์ เวียดนาม (5) กับ พิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์ (Museum of Ethnology) กรุงฮานอย (6) เวียดนาม
ในเวียดนามยังมีพิพิธภัณฑ์อีกแห่งหนึ่งเป็นแห่งที่ 3 ที่ติดอันดับเอเชีย ซึ่งได้แก่พิพิธภัณฑ์สตรีเวียดนาม (Vietnam Women's Museum) กรุงฮานอย (11)
พิพิธภัณฑ์แห่งความทรงจำช่องเขาขาด สร้างขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลออสเตรเลียกับกองทัพไทย เพื่อรำลึกถึงเชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตรที่เสียชีวิตจากการถูกกองทัพญี่ปุ่นบังคับให้ทำงานหนักก่อสร้างทางรถไฟสายมรณะ ที่ตัดผ่านช่องเขาบริเวณช่องเขาแห่งนี้
เชลยศึกนับหมื่นคนถูกบังคับให้สกัด หรือตัดหินด้วยเครื่องมือง่ายๆ ที่พอจะหาได้ในยามนั้น ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายพันคนในบริเวณช่องเขาขาด ด้วยสาเหตุจากการถูกบังคับให้ทำงานหนัก อดอยาก ล้มป่วย รวมทั้งถูกทรมาน กลุ่มที่เสียชีวิตมากที่สุดเป็นเชลยศึกชาวออสเตรเลีย
พิพิธภัณฑ์ฯ อยู่ในเขต อ.ไทรโยค อยู่ห่างจากน้ำตกไทรโยกน้อยราว 18 กิโลเมตร โดยแยกจากทางหลวงสายหลัก ทั้งไทย และพม่าในยุคใหม่มีแผนการฟื้นฟูเส้นทางรถไฟสายมรณะให้กลับคืนมาใช้การได้อีกครั้งหนึ่ง แต่คาดกันว่าจะไม่ตัดผ่านบริเวณช่องเขาขาดแห่งนี้
พิพิธภัณฑ์มีทั้งบริเวณกลางแจ้งที่แสดงเศษสิ่งของเหลือใช้ของทหาร มีแผ่นจารึกรำลึกถึงผู้เสียชีวิต กับส่วนที่อยู่ในอาคารซึ่งวางแสดงเรื่องราวต่างๆ ประกอบแสง และเสียง ปัจจุบันกลายเป็นปลายทางของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ซึ่งสามารถใช้เวลาเที่ยวชมน้ำตก สถานที่อื่นๆ อีกหลายแห่ง รวมทั้งพิพิธภัณฑ์ช่องเขาขาดได้ในวันเดียว
อันดับ 1 ในเอเชียได้แก่พิพิธภัณฑ์เทอร์ราค็อตตา (ทหารกับม้าที่ปั้นจากดินเหนียว) ในเมืองซีอาน สาธารณรัฐประชาชนจีน และอันดับ 2 ได้แก่เขตเมืองต้องห้าม (Forbidden City) ในบริเวณพระราชวังเก่า กรุงปักกิ่ง และอันดับ 4 คือพิพิธภัณฑ์สถานแห่งสันติภาพ เมืองฮิโรชิมา ญี่ปุ่น
ในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังพิพิธภัณฑ์สถานในสิงคโปร์อีก 3 แห่งติดอันดับเอเชียซึ่งได้แก่พิพิธภัณฑ์อารยธรรมเอเชีย (Asian Civilizations Museum) ในอันดับ 12 พิพิธภัณฑ์แห่งชาติสิงคโปร์ (National Museum of Singapore) อันดับ 16 และพิพิธภัณฑ์และโบสถ์ชางงี (Changi Chapel and Museum) อันดับ 17
อีก 2 แห่งอยู่ในมาเลเซีย ซึ่งได้แก่พิพิธภัณฑ์ศิลปะอิสลาม กรุงกัวลาลัมเปอร์ อันดับ 13 และพิพิธภัณฑ์ปีนังเปรานากัน (Pinang Peranakan Museum) ที่จอร์จทาวน์ (Georgetown) อันดับ 20
.
สถานที่-ที่ตั้ง | |
1. | พิพิธภัณฑ์เทอร์ราค็อตตา นครซีอาน สาธารณรัฐประชาชนจีน |
2. | เมืองต้องห้าม กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน |
3. | พิพิธภัณฑ์ตูลสะแลง กรุงพนมเปญ กัมพูชา |
4. | พิพิธภัณฑ์รำลึกสันติภาพ ฮิโรชิมา ญี่ปุ่น |
5. | พิพิธภัณฑ์สงคราม นครโฮจิมินห์ เวียดนาม |
6. | พิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์ กรุงฮานอย เวียดนาม |
7. | พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ ฮ่องกง สาธารณรัฐประชาชนจีน |
8. | พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครไทเป ไต้หวัน |
9. | พิพิธภัณฑ์เซี่ยงไฮ้ นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน |
10. | พิพิธภัณฑ์ช่องเขาขาด จ.กาญจนบุรี ประเทศไทย |
11. | พิพิธภัณฑ์สตรีเวียดนาม กรุงฮานอย เวียดนาม |
12. | พิพิธภัณฑ์อารยธรรมเอเชีย สิงคโปร์ |
13. | พิพิธภัณฑ์ศิลปะอิสลาม กัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย |
14. | พิพิธภัณฑ์แห่งชาติเกาหลี กรุงโซล เกาหลีใต้ |
15. | พิพิธภัณฑ์ระเบิดอะตอมนางาซากิ นางาซากิ ญี่ปุ่น |
16. | พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสิงคโปร์ สิงคโปร์ |
17. | โบสถ์ชางงีและพิพิธภัณฑ์ สิงคโปร์ |
18. | พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ส่านซี นครซีอาน สาธารณรัฐประชาชนจีน |
19. | พิพิธภัณฑ์โบราณคดีมาเตนาดารัน กรุงเยราวัน อาร์มีเนีย |
20. | พิพิธภัณฑ์ปีนังเปรานากัน จอร์จทาวน์ มาเลเซีย |
21. | พิพิธภัณฑ์ภวัณคานธี มุมไบ อินเดีย |
22. | พิพิธภัณฑ์ซาลาร์จุง ไฮเดราบัด อินเดีย |
23. | พิพิธภัณฑ์โรงละครพื้นเมืองแห่งเคราลา โคจิ อินเดีย |
24. | พิพิธภัณฑ์กลางแจ้งฮาโคเนะ ฮาโคเนะ-มาชิ ญี่ปุ่น |
25. | พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติโตเกียว ตาอิโต ญี่ปุ่น |
.
ที่นี่มีความหลัง จากหลายแห่งในอินเทอร์เน็ต
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
พิพิธภัณฑ์แห่งอื่นๆ ที่ติดใน 25 อันดับ อยู่ในฮ่องกง ไต้หวัน นครเซี่ยงไฮ้ เกาหลีใต้ อินเดีย ญี่ปุ่น กับอีก 1 แห่งในประเทศอาร์เมนี ในเอเชียกลาง
สำหรับพิพิธภัณฑ์สงครามในโฮจิมินห์ก่อตั้งขึ้นในเดือน ก.ย.2518 โดยใช้ชื่อว่า “ห้องแสดงอาชญากรรมสงครามอเมริกากับพวกลูกสมุนหุ่นเชิด” ก่อนจะเปลี่ยนมาใช้ชื่อปัจจุบันในปี 2538 และยังเป็นสมาชิกสภาพิพิธภัณฑ์โลก (Council of the World Museum - ICOM) อีกด้วย
ภายในมีเอกสาร ภาพยนตร์กับวัตถุต่างๆ จากครั้งสงครามวางแสดงกว่า 20,000 ชิ้น รายงานอย่างเป็นทางการระบุว่า มีผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ในนครโฮจิมินห์แห่งนี้ปีละประมาณ 500,000 คน
เว็บไซต์ทริปแอดไวเซอร์กล่าวถึงพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์ในกรุงฮานอยในขณะเดียวกันว่า เป็นสถานที่ผู้ไปเที่ยวชม “ได้ความรู้ความเพลิดเพลินกับประวัติศาสตร์ที่ปรากฏอยู่ต่อหน้า”
พิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์ของเวียดนามเปิดให้บริการในเดือน พ.ย.2540 ภายในวางแสดงวัตถุเกี่ยวกับศิลปะและวัฒนธรรมของ 54 ชนชาติในเวียดนาม รวมจำนวนกว่า 15,000 ชิ้น เอกสารต่างๆ อีกกว่า 42,000 ชุด มีทั้งห้องแสดงกลางแจ้ง และในอาคาร เป็นปลายทางท่องเที่ยวยอดนิยมอีกแห่งหนึ่ง ทั้งในหมู่นักท่องเที่ยวชาวเวียดนามเอง และนักท่องเที่ยวต่างชาติ
สำหรับพิพิธภัณฑ์สตรีนับเป็นสิ่งที่หาชมได้ยาก ภายในวางแสดงรูปภาพ และวัตถุต่างๆ ที่เกี่ยวกับสตรีเวียดนามทั้งในประวัติศาสตร์ และในยุคปัจจุบัน รวมทั้งการแต่งกายตามยุคสมัยต่าง สร้างขึ้นเพื่อยกย่องสตรีเวียดนามที่ต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับบุรุษ ในสงครามเพื่อเอกราชจากฝรั่งเศสกับสงครามต่อต้านสหรัฐฯ
.
คลิกที่นี่..เพื่อชมภาพมากกว่านี้