.
เอเอฟพี - สุสานอันสง่างามในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของพม่า ยืนหยัดมาอย่างยาวนานเพื่อเป็นข้อพิสูจน์ให้เห็นถึงชะตากรรมของเชลยศึกที่เสียชีวิตลงในระหว่างการก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายมรณะของญี่ปุ่น
ในขณะที่ประเทศเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วเปิดสู่โลกภายนอก รัฐบาลนักปฏิรูปกำลังพิจารณาที่จะฟื้นการก่อสร้างเส้นทางรถไฟสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว และช่วยพัฒนาพื้นที่ชายแดน ขณะที่ความทรงจำเกี่ยวกับเส้นทางรถไฟสายนี้ยังคงถูกบดบังไปด้วยความขัดแย้ง และความยากจนภายใต้การปกครองสมัยรัฐบาลเผด็จการทหารนานหลายทศวรรษ
ชาวสวนท้องถิ่นถอนวัชพืช และดูแลต้นไม้ที่ปลูกขั้นระหว่างป้ายหลุมศพในสุสานสงครามตันบูซายัท รัฐมอญ ที่มีขึ้นสำหรับกองกำลังพันธมิตรราว 3,000 คน ที่เสียชีวิตระหว่างก่อสร้างเส้นทางรถไฟระหว่างพม่า และไทย
“หลังจากที่ได้เห็นสุสานนี้ ผู้คนไม่ต้องการที่จะเห็นสงครามอีก ไม่ควรมีสงครามในโลก โลกจดจำพวกเขาด้วยความอาลัยจากสิ่งที่พวกเขาทำ การเสียชีวิตในสนามรบนับว่าเป็นเกียรติ แต่การเสียชีวิตเช่นนี้เป็นเรื่องที่น่าเศร้า” มีต โซ ชาวสวนในสุสาน กล่าวกับเอเอฟพี
คำจารึกบนหลุมฝังศพในสุสานเป็นคำกล่าวที่บีบคั้นหัวใจ สะท้อนถึงความห่างไกลจากครอบครัวของบรรดาผู้ที่เสียชีวิต
“เราไม่ได้อยู่ที่นี่เพื่อจับมือคุณประสานไว้ด้วยกัน คุณจากไปโดยปราศจากการกล่าวคำลาสุดท้าย” คำจารึกบนหลุมศพสิบตรีแฮร์รี่ ดอวส์ อายุ 26 ปี เสียชีวิตในเดือน ก.ย. 2486
ความอ่อนเพลีย อดอยาก โรคภัย และความทรมาน เป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตในหมู่เชลยที่ถูกกองกำลังญี่ปุ่นบังคับให้สร้างเส้นทางรถไฟผ่านป่ารกชัฏ และหินแข็งระหว่างเดือน ต.ค. 2485 ถึงเดือน ธ.ค. 2486
เชลยศึกราว 13,000 คน ส่วนใหญ่ถูกควบคุมตัวในสิงคโปร์ และคาบสมุทรมลายู เสียชีวิตลงระหว่างการก่อสร้าง พร้อมกับพลเรือนมากถึง 100,000 คน ที่ส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่ถูกบังคับมาจากพื้นที่ในภูมิภาค
โรเบิร์ต กู๊ดวิน ทหารผ่านศึกชาวออสเตรเลียที่เคยทำงานก่อสร้างบริเวณ “ช่องเขาขาด” (Hellfire Pass) ที่อยู่ในฝั่งพรมแดนไทย กล่าวว่า คนงานทำงานกันอย่างหนักไม่ได้หยุดพักเพื่อเจาะช่องหินซึ่งเกือบจะเสร็จสมบูรณ์ด้วยมือ
“ทุกวันที่เราทำงาน หากใครดูเหมือนว่าจะชะลอมือ พวกเขาจะถูกฟาด ไม่ใช่แค่มือหรือพลั่ว แต่เป็นแส้ลวด หรืออะไรก็ตามที่พวกเขาถือได้ ญี่ปุ่นเป็นพวกโหดร้ายตามมาตรฐานของทุกคน”
.
2
3
4
.
ในฝั่งไทย นักท่องเที่ยวจำนวนมากหลั่งไหลเดินทางมาดูเส้นทางรถไฟ และสะพานที่เป็นที่รู้จักจากภาพยนต์เรื่อง “The Bridge Over the River Kwai” และนั่งรถไฟผ่านเส้นทางที่ยังเปิดให้บริการอยู่
จ.กาญจนบุรี เป็นปลายทางท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยม ที่ใช้เวลาเดินทางจากกรุงเทพฯ ประมาณ 3 ชั่วโมง สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวมากถึง 2,400 ล้านบาท (84 ล้านดอลลาร์) ในปีที่ผ่านมา
ขณะที่ทางการพม่าพยายามที่จะสนับสนุนการพัฒนาในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ ซึ่งเป็นภูมิภาคที่เพิ่งฟื้นจากการถูกโดดเดี่ยวเพราะตกอยู่ภายใต้สงครามกลางเมืองนานหลายปี ข้อตกลงหยุดยิงระหว่างชาวกะเหรี่ยง และกบฏมอญบรรลุเมื่อปีก่อน ภายใต้รัฐบาลกึ่งพลเรือนชุดใหม่ของประเทศที่ขึ้นบริหารเมื่อ 2 ปีก่อน หลังสิ้นสุดการปกครองของทหาร
เจ้าหน้าที่จากการรถไฟพม่าที่ไม่ต้องการเปิดเผยชื่อ ระบุว่า การสำรวจตามรอยเส้นทางจากเมืองตันบูซายัทไปยังด่านเจดีย์สามองค์ที่ชายแดนไทยได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว
“นี่เป็นสิ่งสำคัญต่อการท่องเที่ยว หากเราสามารถเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟไปยังฝั่งไทย เส้นทางนี้จะช่วยพัฒนาการท่องเที่ยว” เจ้าหน้าที่คนเดิม กล่าว
เพียว วาย ยา ซา หนึ่งในคณะกรรมการการท่องเที่ยวพม่าระบุว่า มีศักยภาพอย่างมากที่จะพัฒนาการท่องเที่ยวรอบเส้นทางรถไฟสายมรณะในพม่า แต่ความพยายามไม่ควรมุ่งไปที่เรื่องราวในอดีตเพียงอย่างเดียว แต่ควรแสดงให้เห็นถึงมรดกทางวัฒนธรรมของประชากรชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ในพื้นที่ด้วย
อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อสงสัยบางอย่างเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการฟื้นฟูเส้นทางรถไฟสายนี้
.
5
6
.
7
ร็อด บีทตี้ นักประวัติศาสตร์ที่ทำงานในศูนย์ทางรถไฟไทย-พม่า ที่กาญจนบุรี กล่าวว่า การฟื้นเส้นทางรถไฟจะส่งผลต่อเศรษฐกิจเพียงเล็กน้อย เพราะเขื่อนไฟฟ้าในฝั่งไทยขวางเส้นทางรถไฟดั้งเดิม
เส้นทางรถไฟความยาว 420 กม. ที่เชื่อมต่อระบบรถไฟของไทย และพม่า มีเป้าหมายที่จะใช้ส่งเสบียงให้แก่กองทัพญี่ปุ่นที่กำลังต่อสู้กองกำลังอาณานิคมอังกฤษ และพันธมิตร แต่กลับไม่ได้ใช้งานหลังสงครามสิ้นสุดลงในปี 2488 และทางรถไฟส่วนใหญ่ถูกป่าปกคลุม ขณะเดียวกัน พม่าก็ยุ่งอยู่กับความขัดแย้งภายใน หลังได้รับเอกราชในปี 2491 เกิดสงครามกลางเมืองขึ้นในพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ
ที่เมืองตันบูซายัท ยังมีสัญลักษณ์ความทรงจำหลงเหลือให้ระลึกถึงอยู่เล็กน้อยนอกเหนือไปจากประตูสุสาน คือ หัวรถไฟเก่า และซากรางรถไฟ ที่อยู่บริเวณชานเมือง แต่เส้นทางรถไฟถูกปกคลุมไปด้วยวัชพืช และรูปปั้นเลียนแบบเชลยศึกที่เสียหายจนเกือบจำไม่ได้ และเรื่องราวเกี่ยวกับเส้นทางรถไฟกลายเป็นตำนานสำหรับเด็กๆ
มีต โซ ชาวสวน สนับสนุนเยาวชนท้องถิ่นให้เข้าใจประวัติศาสตร์ที่อยู่เบื้องหลังสุสานและกล่าวว่า พิพิธภัณฑ์ที่วางแผนไว้จะช่วยสร้างความตระหนักถึงเรื่องนี้
“ตราบเท่าที่โลกยังคงอยู่ สุสานแห่งนี้จะเป็นสัญลักษณ์ถึงช่วงเวลาที่น่าเศร้านั้น”
มีต โซ นึกถึงทหารผ่านศึกชาวออสเตรเลียวัย 90 ปี ที่เดินทางอย่างยากลำบากมายังสุสานแห่งนี้เมื่อ 2 ปี ก่อน เพื่อเยี่ยมหลุมศพเพื่อน
“ทันทีที่เขามาถึง เขาวางกระเป๋าลงข้างหลุมศพ ยืนทำความเคารพ และหลั่งน้ำตาออกมา นั่นเป็นสิ่งที่เศร้าที่สุดที่ผมเคยเห็นในช่วง 9 ปี ที่ผมทำงานอยู่ที่นี่ ผมร้องไห้อยู่ข้างๆ เขา” มีต โซ กล่าว.