.
ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - รัฐบาลกัมพูชาหักดิบภาคเอกชนสั่งขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำให้คนงานในอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าส่งออก และผลิตภัณฑ์รองเท้าเป็น 80 ดอลลาร์ต่อเดือน นับตั้งแต่ “เมย์เดย์” 1 พ.ค.ปีนี้เป็นต้นไป ซึ่งเป็นการขึ้นค่าจ้างรวดเดียว 19 ดอลลาร์ นอกจากนั้น ยังแสดงให้เห็นการงัดข้อกับภาคเอกชน ที่ยอมรับค่าจ้างอัตราใหม่เพียง 75 ดอลลาร์เดือน
คำแถลงของกระทรวงสวัสดิการสังคมฯ ที่ลงนามโดย นายอิทธิ์ซอมเฮง (Ith Sam Heng) รัฐมนตรีว่าการ และออกประกาศในวันที่ 21 มี.ค.ระบุว่า ค่าจ้างขั้นต่ำในอุตสาหกรรมนำหน้าของประเทศแขนงนี้จะขึ้นเป็น 73 ดอลลาร์ จาก 61 ดอลลาร์ต่อเดือนในปัจจุบัน ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. เป็นต้นไป และจะมีการประชุมร่วมกับภาคเอกชนในวันที่ 29 มี.ค.นี้ เพื่อพิจารณาเป็นครั้งสุดท้าย
แต่ในขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรีฮุนเซน ได้ให้สัมภาษณ์ขอให้บรรดานายจ้างได้ให้เพิ่มขึ้นอีก 2 ดอลลาร์ เป็น 75 ดอลลาร์ต่อเดือน และให้บวกเงินสำหรับการดูแลรักษาสุขภาพเข้าในเงินเดือนขั้นต่ำอีกคนละ 5 ดอลลาร์ต่อเดือน รวมเป็นเดือนละ 80 ดอลลาร์ สำนักข่าวกัมพูชารายงาน
สำนักข่าวซึ่งเป็นของกระทรวงแถลงข่าว (Ministry of Information) รายงานในวันศุกร์ว่า ค่าจ้างขั้นต่ำจะเพิ่มขึ้นเป็น 80 ดอลลาร์ต่อเดือนตั้งแต่ 1 พ.ค.นี้ เป็นต้นไป ทั้งนี้ เป็นประกาศของกระทรวงสวัสดิการสังคม ทหารผ่านศึกและการฟื้นฟูเยาวชนในวันเดียวกัน
อุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าส่งออก และผลิตภัณฑ์รองเท้าเป็นแขนงการผลิตหลักผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชาให้มีอัตราเฉลี่ยการเติบโตสูงกว่า 10% ต่อปีในช่วงหลายปีมานี้ แต่คนงานนับแสนๆ กลับมีชีวิตความเป็นอยู่แร้นแค้น โรงงานหลายแห่งมีระบบสวัสดิการอาหารกลางวันที่ย่ำแย่ และสภาพแวดล้อมที่ทำงานเลวร้าย
ในช่วง 2-3 ปีมานี้ คนงานในแขนงอุตสาหกรรมนี้ได้ทำการนัดหยุดงานมาหลายครั้งเรียกร้องให้บริษัทนายจ้างต่างชาติเพิ่มค่าจ้าง ปรับปรุงเงื่อนไขเวลาทำงานล่วงเวลา และสวัสดิการต่างๆ
ตามรายงานของสื่อในกัมพูชา อุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้า และรองเท้าในประเทศนี้ผลิตสินค้าป้อนให้แก่บริษัทที่มีชื่อเสียงของชาติตะวันตก ซึ่งรวมทั้งแบรนด์ดังอย่าง เอชแอนด์เอ็ม (H&M) พูม่า (Puma) อะดิดาส (Adidas) และไนกี้ (Nike) ด้วย
ปัจจุบัน ทั่วประเทศมีโรงงานในอุตสาหกรรมนี้กว่า 300 แห่ง จ้างแรงงานชาวเขมรราว 335,400 คน ปีที่แล้วทำรายได้รวม 4,600 ล้านดอลลาร์จากการส่งออก ขยายตัว 8% จากปี 2554 สำนักข่าวของทางการกล่าว.