.
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ผู้เชี่ยวชาญด้านศาสนาในเวียดนามได้ทยอยกันออกอธิบายเกี่ยวกับพระพุทธรูปรูปลักษณ์ประหลาดที่มีการเผยแพร่ในเว็บไซต์หลายแห่งในขณะนี้ ซึ่งทำให้ชาวพุทธนับล้านพากันโกรธเคือง ทั้งในเวียดนามเอง และในประเทศเพื่อนบ้าน ทุกคนต่างกล่าวว่า พระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณ์เช่นนี้มิได้ประดิษฐ์ขึ้นในเวียดนาม แต่อาจจะมีผู้ซื้อจากต่างประเทศที่มีผู้คนนับถือ
ผู้ที่ซื้อพระพุทธรูปลักษณ์นี้เข้าเวียดนาม ซื้อเป็นงานศิลปะ ไม่ได้ซื้อไปเพื่อกราบไหว้บูชา และไม่ได้นำไปประดิษฐานในวัดใดๆ ในประเทศ ผู้เชี่ยวชาญกล่าว หลังจากเรื่องนี้เคยเป็นข่าวฮือฮาในประเทศไทยพักใหญ่เมื่อปลายเดือนที่แล้ว ผ่านหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษรายวันฉบับหนึ่ง พร้อมภาพถ่ายที่ระบุว่า ถ่ายในเวียดนาม
“นี่คือพระพุทธรูปในลัทธิตันตระ” ศ.ดร.เหวียนมีงหง็อก นักวิจัยพระพุทธศาสนาแห่งสถาบันวิทยาศาสตร์สังคม (Vietnam Academy of Social Science) กล่าวกับเวียดนามเอ็กซ์เพรส สำนักข่าวออนไลน์ภาษาเวียดนามยอดนิยม ซึ่งหมายถึงความเชื่อแขนงหนึ่งที่แตกสายออกไปจาก พุทธนิกายวัชรยาน (Vajrayana) ในธิเบต
พระพุทธรูปที่กำลังเป็นข่าวอยู่ในขณะนี้ เป็นองค์ขนาดเล็ก หล่อจากสำริดซึ่งไม่เคยปรากฏในเวียดนามมาก่อน เนื่องจากพุทธลัทธิตันตระ (Tantricsim Buddhism) เสื่อมสลายไปจากสังคมประเทศนี้มานานหลายร้อยปี หลังจากปรากฏในระยะสั้นๆ สมัยปลายราชวงศ์หลี (Ly Dynasty, 1009-1225)
พระพุทธรูปในทรงนั่งสมาธิสงบนิ่ง พระหัตถ์เบื้องขวาประทับวางบนพระหัตซ้าย แต่มีหญิงสาวเปลือยนั่งคร่อมบนหน้าตักและโอบกอดองค์พระนั้นเป็นของพุทธนิกายที่ยังแพร่หลายในประเทศเนปาล รวมทั้งในทิเบต สถาบันการศึกษาแห่งหนึ่งในประเทศจีนเคยตีพิมพ์ตำราเกี่ยวกับลัทธิศาสนานี้ออกเผยแพร่มานานหลายสิบปีแล้ว ซึ่งมีการอธิบายความหมายเชิงปรัชญากับความเชื่อเอาไว้ หนังสือดังกล่าวยังคงหาซื้อได้ตามร้านหนังสือในฮ่องกง
“ถ้าหากตีความหมายว่า พระพุทธรูปกำลังมีเพศสัมพันธ์กับอิสตรี ก็จะเป็นความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวง” ดร.หง็อกกล่าว
“พระพุทธรูปปางนี้เกิดขึ้นจากความเชื่อที่แตกต่างของชาวพุทธจำนวนหนึ่งในยุคใหม่ซึ่งมีรากฐานทางปรัชญาจากวัฒนธรรมตะวันออกที่แตกต่างไปจากพวกเรา”
พระพุทธลักษณ์ที่ไม่ค่อยปรากฏให้เห็นทั่วไปนี้ ทำให้ชาวพุทธในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ส่วนใหญ่เป็นพุทธเถรวาท ที่เคารพบูชาในความบริสุทธิ์ผุดผ่องของพระพุทธองค์ต่างไม่พอใจ หรือโกรธแค้น แต่แท้จริงแล้วลัทธิตันตระมีคำอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างมีปรัชญารองรับ นักวิชาการเวียดนามกล่าว
ผิดแผกแตกต่างกันไป เวียดนามเอ็กซ์เพรส
พระพุทธรูปลักษณ์ดั้งเดิมของนิกายวัชรยานมิได้เป็นเช่นที่เห็น หากเป็นของเฉพาะลัทธิตันตระที่แตกตัวออกไปเป็นแขนง (Sect) พระพุทธลักษณ์ดั้งเดิมนั้นเป็นปางสมาธิ ทรงสงบนิ่ง พระหัตถ์เบื้องขวาประทับวางไว้บนพระหัตถ์เบื้องซ้าย มิได้แสดงอาการใดๆ แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป พระพุทธลักษณ์ก็เริ่มเปลี่ยนไป รุ่นใหม่ที่ประดิษฐ์ออกมามีการแสดงปฏิกิริยาตอบสนองต่อฝ่ายหญิงซึ่งเชื่อกันว่าเป็นอิทธิพลจากลัทธิตันตระของฝ่ายฮินดูที่สะท้อนกลับมาอีกทอดหนึ่ง หรือขึ้นอยู่กับผู้จัดทำว่า ทำพระพุทธรูปขึ้นมาด้วยจุดประสงค์ใด. |
2
3
4
5
6
7
8
.
“หลายคนอาจจะมองว่าเป็นความพยายามทำลายพระพุทธศาสนาโดยคนบางกลุ่ม แต่แท้จริงแล้วไม่ใช่เลย สิ่งนี้ดำรงอยู่ในสังคมชาวพุทธในบางประเทศ” ดร.หง็อกกล่าว
แทนที่จะมองเป็นสิ่งลามกอนาจาร ลัทธิตันตระในธิเบตอธิบายว่า พระพุทธรูปลักษณ์สะท้อนการอยู่ร่วมกันของ “หยินกับหยาง” ซึ่งมีอยู่ในกายของมนุษย์ทุกผู้คน พระพุทธรูปในลักษณ์นี้ได้สะท้อนในสิ่งนี้ มิใช่เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบุรุษกับสตรีเพศ และไม่ใช่เรื่องลามกอนาจารอย่างที่หลายคนคิดเมื่อแรกได้เห็น หากสะท้อนนาทีอันสำคัญก่อนการบรรลุโสดาบันของพระพุทธองค์
นักวิชาการเวียดนามอีกหลายคนได้อธิบายว่า พุทธตันตระที่เกิดก่อนนั้น ต่างไปจากฝ่ายตันตระของศาสนาฮินดูที่ลอกเลียนไปใช้ในภายหลัง และไม่ได้รับความนิยมเนื่องจากได้บิดเบือนความเชื่ออันบริสุทธิ์ของฝ่ายพุทธในเรื่อง 2 เพศที่เป็นหนึ่งเดียวซึ่งในการตรัสรู้ของพระพุทธองค์จะขาด 2 ปัจจัยนี้ไม่ได้
ขณะเดียวกันฝ่ายพราหมณ์ซึ่งในช่วงหนึ่งของการพัฒนาได้นำไปใช้แต่บิดเบือนปรัชญาไปใช้ให้สอดคล้องกับคำสอนที่ว่า หากร่วมเพศกับมารดา พี่สาว หรือน้องสาวของตนจะบรรลุธรรมได้เร็วขึ้น นักวิชาการเวียดนามอีกคนหนึ่งอธิบาย
ฝ่ายฮินดูมีเทวรูปของตนกอดกับสตรีเพศที่ร่างเปล่าเปลือยเช่นกัน แต่เน้นไปในเรื่องการร่วมเพศตามความเชื่อ โดยพยายามสะท้องให้เห็นว่าอิสตรีนั้นเป็น “ศักดิ์” (Shakti) หรือ “อำนาจ” ชนิดหนึ่ง ขณะที่เทวรูปไศวะ (Siva) เป็น “ปัญญา” (Wisdom) ซึ่งจะต้องเอาชนะ “อำนาจ” อันเป็นราคะ ขณะที่ฝ่ายพุทธไม่มีความเชื่อในเรื่อง “ศักดิ์”
แต่ในปัจจุบันลัทธิตันตระของฝ่ายฮินดูไม่มีเหลืออยู่อีกแล้วในอินเดีย เนื่องจากไม่ได้รับความนิยม เพราะไม่สอดคล้องกับความจริงทั้งในทางโลกและทางธรรม
ตรงข้ามกับฝ่ายวัชรยานแห่งทิเบต ที่แสดงพระพุทธองค์เป็นตัวแทนแห่ง “เมตตา” (Passion) และสตรีเพศเป็น “ปัญญา” (Wisdom) ซึ่งจะต้องรวมสองสิ่งนี้เข้าด้วยกัน และเป็นหนึ่งเดียวกัน มิเช่นนั้นการตรัสรู้ย่อมไม่อาจจะเกิดขึ้น
ดร.เหวียนมีงหง็อก กล่าวถึงเรื่องนี้ว่าพระพุทธรูปลักษณ์อื้อฉาวมิใช่สิ่งใหม่หากมีมาหลายร้อยปี ซึ่งเป็นลักษณ์เดียวกันกับพระพุทธสมันตภัทร (Samantabhadha) ของนิกายวัชรยานในทิเบต
“เป็นที่ชัดเจนสิ่งที่สะท้อนออกมามิใช่การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างชายกับหญิงตามที่หลายคนอาจนึกถึงเมื่อแรกเห็น แต่มองย้อนหลังไปในเรื่องราวของฝ่ายวัชรยาน พระพุทธรูปที่ทำให้ผู้คนโกรธเคืองขณะนี้กลับสะท้อนเมตตา” ดร.หง็อกกล่าว
.
9
10
11
12
13
14
15
.
ผู้เชี่ยวชาญเวียดนามอีกคนหนึ่งกล่าวว่า เป็นการยากที่จะระบุว่าพระพุทธรูปที่เป็นปัญหาในขณะนี้ไปจากแหล่งใดในเวียดนาม และเป็นไปได้ที่จะถ่ายภาพจากห้องเก็บของนักสะสมคนใดคนหนึ่ง แต่ไม่มีพระพุทธรูปลักษณ์นี้ประดิษฐานในวัดแห่งใดอย่างแน่นอน เนื่องจากมิใช่ทรัพย์สินของพุทธนิกายมหายานในเวียดนาม
“มีพระพุทธรูปลักษณ์นี้จำนวนหนึ่งวางแสดงในพิพิธภัณฑ์ศิลปากรเวียดนามเป็นของนายซเวืองฝูเฮียนซึ่งเป็นนักสะสม เป็นพระพุทธรูปขนาดเล็ก และไม่ได้สร้างขึ้นในเวียดนาม” นายฝ่ามจุง นักวิจัยแห่งสถาบันวิจิตรศิลป์เวียดนามกล่าวกับเวียดนามเอ็กซ์เพรส
“พระพุทธรูปลักษณ์นี้เห็นได้ทั่วไปในประเทศที่นับถือลัทธิตันตระเช่นประเทศเนปาล อาจจะมีคนไปเที่ยวที่นั่น และนำกลับมายังเวียดนาม ที่เห็นในอินเทอร์เน็ตขณะนี้อาจจะมาจากที่นั่น แต่ผมไม่เคยเห็นว่ามีในเวียดนาม หรือเป็นของเวียดนาม” ดร.เหวียนก๊วกต๋วน ผู้อำนวยการสถาบันศาสนาในกรุงฮานอยกล่าว
แต่ ดร.หง็อกกล่าวว่า ถ้าหากพระพุทธรูปดังกล่าวเป็นของเวียดนามก็จะเป็นโบราณวัตถุล้ำค่า เป็นหลักฐานชิ้นแรกทางโบราณคดี แม้จะมีการบันทึกไว้ว่าลัทธิตันตระเคยได้รับความเลื่อมใสในสมัยราชวงศ์หลี และเสื่อมสลายไป ซึ่งยังไม่เคยพบหลักฐานใดๆ
ส่วน ดร.เหวียนก๊วกต๋วนกล่าวว่า ในยุคหนึ่งลัทธิตันตระเคยแพร่เข้ามามิอิทธิพลในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งเชื่อว่าเป็นนิกายของฝ่ายฮินดู แต่ไม่ได้รับการยอมรับจากพุทธนิกายมหายาน
นักวิชาการผู้นี้บอกกับเวียดนามเอ็กซ์เพรสว่า เข้าใจความรู้สึกของพุทธศาสนิกชนชาวไทยได้ดี หลังจากข่าว และภาพเหล่านี้ปรากฏผ่านหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษฉบับหนึ่ง ซึ่งก็ไม่ต่างกับความรู้สึกของชาวพุทธในเวียดนามที่ส่วนใหญ่ร่วมนิกายเดียวกัน.