xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ พม่าเริ่มภารกิจเยือนนอร์เวย์ สานสัมพันธ์ชาติตะวันตก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>ประธานาธิบดีเต็งเส่ง (ซ้าย) ร่วมแถลงข่าวพร้อมกับนายกรัฐมนตรีเยนส์ สโตลเทนเบิร์ก ของนอร์เวย์ ที่กรุงออสโล วันที่ 26 ก.พ. ประธานาธิบดีเต็งเส่งเดินทางถึงออสโลเมื่อวันอังคาร ในการเดินทางเยือนยุโรปครั้งแรกที่มีเป้าหมายที่จะกระชับความสัมพันธ์กับชาติตะวันตก. -- AFP PHOTO/THOMAS WINJE OIJORD /Norway Out. </font></b>

เอเอฟพี - ประธานาธิบดีเต็งเส่งของพม่าเดินทางถึงกรุงออสโลในวันนี้ (26) ที่เป็นการเริ่มต้นการเดินทางเยือนยุโรปครั้งแรกของเต็งเส่งที่มีเป้าหมายจะสานสัมพันธ์กับชาติตะวันตก

เจ้าหน้าที่ของนอร์เวย์ระบุว่า ผู้นำนักปฏิรูปของพม่าเดินทางถึงสนามบินนานาชาติกรุงออสโล ในการเดินทางเยือนนอร์เวย์เป็นเวลา 3 วัน ก่อนเดินทางต่อไปยังฟินแลนด์ ออสเตรีย เบลเยี่ยม และอิตาลี ก่อนเดินทางกลับพม่าในวันที่ 8 มี.ค.

อดีตนายทหารผู้นี้ได้สร้างความประทับใจให้กับประชาคมโลกด้วยการดำเนินการปฏิรูปหลากหลายประการนับตั้งแต่ขึ้นสู่อำนาจในต้นปี 2554 ที่รวมทั้งการปล่อยตัวนักโทษการเมืองหลายร้อยคน และการต้อนรับนางอองซานซูจีเข้าสู่สภา

การเดินทางเยือนนอร์เวย์ของเต็งเส่ง มีขึ้นหลังจากที่นางอองซานซูจีเดินทางเยือนกรุงออสโลเมื่อปีที่ผ่านมา ที่นางได้เข้ารับรางวัลโนเบลและกล่าวสุนทรพจน์สำหรับรางวัลที่นางได้รับตั้งแต่ปี 2534

โฆษกกระทรวงต่างประเทศนอร์เวย์ระบุว่า ประธานาธิบดีเต็งเส่งมีกำหนดการที่จะหารือในประเด็นเกี่ยวกับการปฏิรูปประชาธิปไตย ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนา ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม แต่ยังไม่มีข้อตกลงสำคัญที่จะลงนามกัน

"ความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกเกิดขึ้นในพม่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่ยังคงมีอีกหลายสิ่งที่ต้องจัดการ ในส่วนของนอร์เวย์นั้น เราคิดว่าการสนับสนุนต่อการพัฒนาในเชิงบวกเช่นนี้เป็นสิ่งสำคัญ และเราพยายามที่จะช่วยเหลือผู้ที่ขับเคลื่อนผลักดันสิ่งเหล่านี้ให้ดำเนินไปในทิศทางที่ถูกต้อง" โฆษกกระทรวงต่างประเทศนอร์เวย์ กล่าว

เต็งเส่งมีกำหนดจะเข้าหารือกับนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีต่างประเทศของนอร์เวย์ รวมทั้งพบกับผู้คนในชุมชนชาวพม่าในนอร์เวย์

ส่วนการเดินทางไปเบลเยี่ยมจะเป็นการหารือในระดับทวิภาคี และการประชุมระดับสูงของสหภาพยุโรป นักการทูตยุโรป กล่าว ขณะเดียวกันแหล่งข่าวอีกรายหนึ่งระบุว่า หัวข้อการหารือจะรวมถึงมาตรการคว่ำบาตรและความช่วยเหลือด้านการพัฒนา รวมทั้งการปฏิรูปเศรษฐกิจ รายงานด้านสิทธิมนุษยชนของพม่า และความพยายามที่จะเจรจาสันติภาพในความขัดแย้งที่กำลังดำเนินอยู่

หลังจากประธานาธิบดีเต็งเส่งดำเนินการปฏิรูปอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่ที่ขึ้นบริหารประเทศ สหภาพยุโรปตอบสนองต่อความเคลื่อนไหวดังกล่าวด้วยการระงับมาตรการคว่ำบาตรทุกประการ ยกเว้นมาตรการที่เกี่ยวข้องกับอาวุธ ขณะที่สหรัฐฯ ผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรทางการค้าและการลงทุนบางส่วนเท่านั้น.
กำลังโหลดความคิดเห็น