.
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - นายกรัฐมนตรีกัมพูชาฮุนเซน ได้สั่งให้กระทรวงยุติธรรมพิจารณาลดโทษแก่นักโทษชาวไทย นายวีระ สมความคิด ขณะเดียวกัน ก็ให้อภัยโทษแก่ น.ส.ราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ ตามคำร้องของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไทย สำนักข่าวของทางการกัมพูชาอ้างคำแถลงชิ้นหนึ่งของกระทรวงการต่างประเทศ ที่ออกในบ่ายวันพฤหัสบดี 10 ม.ค.นี้
“กระทรวงยุติธรรมได้รับบัญชาให้ลดระยะเวลาต้องโทษสำหรับ นายวีระ สมความคิด ซึ่งอาจจะนำไปไปสูการอภัยโทษในอนาคต ขณะเดียวกัน ก็ให้อภัยโทษ น.ส.ราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ เนื่องในโอกาสพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ พระบาทสมเด็จพระนโรดมสีหนุ พระบรมรัตนาคโกฐ อดีตพระชนกแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา” คำแถลงของโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ และความร่วมมือกับต่างประเทศที่ออกในตอนบ่ายระบุ
“ปัจจุบัน กระทรวงยุติธรรมกำลังดำเนินการพิจารณาตามบัญชาของสมเด็จเดโชฮุนเซนและจะตัดสินใจเรื่องนี้ในเร็วๆ นี้” คำแถลงของโฆษกกระทรวงระบุ คำแถลงของโฆษกกระทรวงยังกล่าวอีกว่า นายกรัฐมนตรีไทยได้ร้องขอต่อ นรม.กัมพูชาในระหว่างไปร่วมประชุมผู้นำอาเซียนในกรุงพนมเปญ เกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะให้อภัยโทษแก่ชาวไทยทั้งสองที่ถูกจำคุกในความผิดฐานจารกรรมในเขตทหารที่เป็นเขตหวงห้ามในกัมพูชา
นายวีระ ถูกศาลกัมพูชาตัดสินจำคุกเป็นเวลา 8 ปี ขณะที่ น.ส.ราตรี เลขานุการส่วนตัวต้องโทษจำคุก 6 ปี คำแถลงของโฆษกกระทรวงการต่างประเทศในวันพฤหัสบดีนี้ไม่ได้ให้รายละเอียดใดๆ เกี่ยวกับระยะเวลาจำคุกที่นายวีระจะได้รับการลดหย่อน ตลอดจนเวลาที่จะเริ่มมีผลบังคับ แม้ นรม.ไทยจะได้แถลงในวันเดียวกันระบุจะถูกลดโทษเป็นเวลา 6 เดือน และเริ่มวันที่ 1 ก.พ.นี้ก็ตาม
สำนักข่าวของรัฐบาลรายงานอีกว่า ในวันที่ 10 ม.ค.2556 นี้ นรม.ไทยได้เรียกร้องในเรื่องเดียวกันนี้ต่อ นรม.กัมพูชาอีกครั้งหนึ่ง
ก่อนหน้านี้ กัมพูชาปฏิเสธที่จะพิจารณาการอภัยโทษ โดยอ้างว่า นายวีระไม่ยอมสารภาพว่าได้กระทำความผิดตามที่ศาลกัมพูชาพิพากษา
ชาวไทยทั้งสองถูกจับกุมร่วมกับคนอื่นๆ อีก 5 คนในวันที่ 29 ธ.ค.2553 ที่ชายแดน จ.บ้านใต้มีชัย (Banteay Meanchey) ฐานเข้าเมืองผิดกฎหมาย ต่อมา ถูกเพิ่มอีก 2 ข้อหา คนอื่นๆ ที่ถูกจับในคราวเดียวกันยังรวมทั้งนายพนิช วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ ด้วย
.
.
อย่างไรก็ตาม คนอื่นๆ ได้รับการประกันตัว และปล่อยตัวในวันที่ 22 ม.ค.2554 หลังจากศาลพิพากษาให้จำคุกคนละ 9 เดือน ปรับคนละ 250 ดอลลาร์ ฐานเข้าเมืองผิดกฎหมายและรุกล้ำเขตทหาร แต่โทษจำคุกให้รอลงอาญา
ถึงแม้จะมีระเบียบกำหนดให้ผู้ที่มีสิทธิได้รับการพิจารณาอภัยโทษ จะต้องรับโทษ 2 ใน 3 ก่อนก็ตาม ในทางปฏิบัติ นายกรัฐมนตรีกัมพูชาสามารถใช้อำนาจสั่งการขออภัยโทษให้แก่นักโทษโดยไม่ต้องเข้ากฎเกณฑ์ใดๆ ทั้งสิ้น
ก่อนหน้านั้น เพียง 1 ปี ในเดือน พ.ย.2552 นายศิวรักษ์ ชุติพงษ์ วิศวกรชาวไทยวัย 33 ปี ซึ่งทำงานกับบริษัทบริการทางการบินที่อากาศยานโปเจินตง ถูกจับกุมข้อหาจารกรรม และเป็นภัยต่อความมั่นคง ฐานส่งข้อมูลเกี่ยวกับเที่ยวบินของนักโทษชายทักษิณ ชินวัตร ที่เดินทางเข้ากัมพูชาในช่วงต้นเดือนให้เจ้าหน้าที่สถานทูตไทย
นายศิวรักษ์ ถูกศาลตัดสินจำคุก 7 ปี แต่เป็นอิสระในอีก 2 สัปดาห์ต่อมา หลังจากฮุนเซน ขออภัยโทษให้ และแม้ว่า พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ แห่งพรรคเพื่อไทย กับอีกหลายฝ่ายจะได้พยายามเจรจาก็ตาม แต่ผู้นำกัมพูชายกเรื่องนี้ให้เป็นความสำเร็จของนักโทษชายที่กำลังหลบหนีโทษจำคุก 2 ปี ฐานทุจริตในตำแหน่งหน้าที่
เวลาต่อมา นช.ทักษิณ เดินทางเข้ากัมพูชาอีกครั้ง เพื่อไปรับตัวนายศิวรักษ์ โดยมี ส.ส.พรรคเพื่อไทย ไปร่วมด้วยจำนวนมาก มีการจัดพิธี “ส่งมอบ” เป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โต โดยฮุนเซนเปิดคฤหาสน์ “วิมานเอกราช” อันโอ่อ่าต้อนรับ.