.
เอเอฟพี - ตั้งแต่ค้างคาวปีศาจ ไปจนถึงกบที่มีเสียงร้องเหมือนนก นักวิทยาศาสตร์ได้ระบุเอกลักษณ์สิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใหม่ได้มากถึง 126 สายพันธุ์ ในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขง ตามการเปิดเผยของกองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) ในวันนี้ (18 ธ.ค.) ในรายงานฉบับใหม่ที่มีรายละเอียดการค้นพบในช่วงปี 2554
แต่กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมระบุว่า การสูญเสียพื้นที่ป่าไปจนถึงการก่อสร้างโครงการเขื่อนไฟฟ้าขนาดใหญ่ในแม่น้ำโขง กำลังคุกคามความหลากหลายทางชีวภาพในภูมิภาค ซึ่งหมายความว่า สิ่งมีชีวิตจำนวนมากที่มีอยู่ต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด
“ข่าวดีคือ การค้นพบสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใหม่ แต่ข่าวร้ายคือ การอนุรักษ์ และรักษาสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืนนั้นกลายเป็นเรื่องยากมากยิ่งขึ้น” นิค ค็อกซ์ ผู้จัดการโครงการอนุรักษ์สายพันธุ์สัตว์ในลุ่มแม่น้ำโขงของ WWF กล่าว
ในปี 2554 ที่ผ่านมา มีการบันทึกสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใหม่ได้ทั้งหมด 126 สายพันธุ์ ในพื้นที่ภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ที่ประกอบด้วย ไทย กัมพูชา พม่า เวียดนาม ลาว และมณฑลหยุนหนัน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน เช่น ค้างคาวจมูกท่อที่ค้นพบในเวียดนาม ต้องพึ่งพาป่าเขตร้อนในการเอาชีวิตรอด ซึ่งมีความเสี่ยงอย่างมากที่ป่าดังกล่าวจะถูกทำลาย ซึ่งตามรายงานระบุว่า ในช่วงเวลาเพียง 4 ทศวรรษที่ผ่านมา พื้นที่ป่าในลุ่มแม่น้ำโขงราว 30% ถูกทำลายสูญหายไป
ส่วนสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เช่น งูหลามปากเป็ดที่พบในพม่า มีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะถูกล่าอย่างผิดกฎหมายเพื่อเอาเนื้อ หรือหนัง และการค้าสัตว์หายาก รายงานระบุ
“การลักลอบล่าเพื่อค้าสัตว์ป่าอย่างผิดกฎหมายเป็นหนึ่งในการคุกคามที่ร้ายแรงที่สุดต่อสายพันธุ์สิ่งมีชีวิตที่มีอยู่ทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ค็อกซ์กล่าวในคำแถลงฉบับหนึ่งในรายงาน
รายชื่อสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใหม่ที่ค้นพบส่วนใหญ่เป็นพันธุ์พืช และยังประกอบไปด้วย สัตว์เลื้อยคลาน 21 ชนิด และสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ 5 ชนิด เช่น กบที่ส่งเสียงคล้ายร้องเพลง และกบที่มีตาสีดำขาวดูคล้ายสัญลักษณ์หยิน-หยาง
WWF กล่าวว่า ขณะที่การค้นพบสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใหม่จำนวนมากเป็นข้อพิสูจน์ให้เห็นถึงความหลากหลายทางชีวิตภาพของภูมิภาค แต่การพัฒนาบางอย่างก็เป็นภัยคุกคามต่ออนาคตของสิ่งมีชีวิตเหล่านี้เช่นกัน
WWF ระบุถึงการตัดสินใจของลาวที่จะก่อสร้างเขื่อนไซยะบูลีบนแม่น้ำโขงว่า เป็นภัยคุกคามต่อความหลากหลายที่มีอย่างมากมายในแม่น้ำ รวมถึงความเป็นอยู่ของประชาชนมากกว่า 60 ล้านคน
“แม่น้ำโขงมีระดับความหลากหลายทางชีวภาพทางน้ำเป็นอันดับ 2 รองจากแม่น้ำอะเมซอน เขื่อนไซยะบูลีจะเป็นอุปสรรคขัดขวางการขยายพันธุ์จำนวนมาก และเป็นสัญญาณการสิ้นสุดลงของสัตว์ที่เป็นที่รู้จัก และยังไม่ค้นพบ” ค็อกซ์ระบุ
แม่น้ำโขงเป็นที่อยู่ของปลากว่า 850 ชนิด และเป็นพื้นที่ประมงน้ำจืดที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในโลก และในเดือนที่ผ่านมา ลาวระบุว่า ได้เริ่มงานก่อสร้างเขื่อนไซยะบูลีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ ท้าทายเสียงคัดค้านจากนักสิ่งแวดล้อม เพื่อที่จะเป็นศูนย์กลางทางพลังงานของภูมิภาค.
.