เอเอฟพี - นางอองซานซูจี ผู้นำฝ่ายค้านพม่า วันนี้ (30 พ.ย.) ได้พบกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่เบื้องหลังการปราบปรามการประท้วงต่อต้านเหมืองจีน และเข้ารับฟังข้อเรียกร้องของชาวบ้านในพื้นที่ เพื่อหาทางไกล่เกลี่ยยุติเหตุขัดแย้งที่เกิดขึ้น
แต่ในสัญญาณของความท้าทายที่นางอองซานซูจี เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ต้องเผชิญนั้น ฝ่ายสถานทูตจีนในนครย่างกุ้งได้ยืนยันว่า ประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับการย้ายที่อยู่อาศัย การจ่ายค่าชดเชย และการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมถูกแก้ไขแล้ว
ผู้ชุมนุมประท้วงหลายสิบคน รวมทั้งพระสงฆ์ได้รับบาดเจ็บเมื่อตำรวจปราบจลาจลเข้าปราบปรามยุติการชุมนุมประท้วงที่เหมืองมอญยอ ทางภาคเหนือของพม่า ในช่วงเช้าวันพฤหัสบดี (29) นับเป็นการปราบปรามอย่างรุนแรงที่สุดต่อผู้ชุมนุมประท้วง นับตั้งแต่รัฐบาลชุดใหม่ขึ้นบริหารประเทศแทนที่รัฐบาลเผด็จการทหารเมื่อปีก่อน
นายโอน กาย โฆษกนางอองซานซูจี กล่าวว่า นางอองซานซูจีได้เข้าพบกับเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการดูแลเหมืองทองแดงที่จีนให้การสนับสนุนในวันพฤหัสบดี และเยี่ยมผู้ได้รับบาดเจ็บที่รักษาตัวในโรงพยาบาล และในวันนี้ (30) นางซูจีได้หารือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และมีกำหนดที่จะพบกับประชาชนในพื้นที่ที่ต่อต้านเหมือง
นางซูจี กล่าวว่า เธอพร้อมที่ช่วยหาทางยุติการเผชิญหน้าระหว่างเจ้าหน้าที่ และผู้ประท้วงอย่างสันติ
“หลังรับทราบ และเข้าใจมุมมองความคิดของทั้งสองฝ่าย ฉันต้องการที่จะเจรจาไกล่เกลี่ยให้ดีที่สุด แม้ฉันจะไม่สามารถรับประกันได้ว่าจะสำเร็จหรือไม่ แต่ฉันเชื่อว่าฉันจะสามารถทำได้หากประชาชนร่วมมือแก้ปัญหาไปพร้อมกับฉัน” นางซูจี กล่าว
พระสงฆ์ ชาวบ้าน และนักศึกษาเรียกร้องให้ยุติโครงการเหมืองที่เป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัทของจีน และบริษัทที่กองทัพทหารพม่าเป็นเจ้าของ เพื่อทำการศึกษาผลกระทบของโครงการต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม
ด้านสถานทูตจีนระบุว่า จุดที่เป็นข้อโต้แย้งนั้นได้รับการแก้ไขแล้ว
“ประเด็นต่างๆ เช่น การย้ายที่อยู่อาศัย การจ่ายค่าชดเชย การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และการแบ่งผลประโยชน์ ได้กำหนดร่วมกันผ่านการเจรจาจากทั้งสองฝ่าย และเป็นไปตามข้อกฎหมาย และระเบียบต่างๆ ของพม่า” ข้อความส่วนหนึ่งในคำแถลงของสถานทูตจีน
นักเคลื่อนไหวระบุว่า ประชาชนประมาณ 100 คน ได้รับบาดเจ็บจากการเข้าปราบปรามของเจ้าหน้าที่ และพระสงฆ์หลายรูปได้รับบาดเจ็บสาหัส
แม้ว่ายังไม่แน่ชัดถึงสาเหตุของบาดแผลไฟไหม้ แต่สำนักงานของประธานาธิบดีเต็งเส่งปฏิเสธสื่อท้องถิ่นที่กล่าวหาว่า เป็นเพราะเจ้าหน้าที่ใช้อาวุธเคมีบางชนิด และในคำแถลงฉบับหนึ่งที่มีขึ้นในวันพฤหัสบดี ระบุว่า ปืนฉีดน้ำ แก๊สน้ำตา และระเบิดควันถูกนำมาใช้ในการปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วง แต่ต่อมาในภายหลังได้มีการถอนข้อความในคำแถลงโดยไม่ให้เหตุผลแต่อย่างใด.