xs
xsm
sm
md
lg

“เวินเจียเป่า” ไม่ฟังใคร อ้างทิ้งทวนจีนครองทะเลจีนใต้ชอบธรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 <bR><FONT color=#000033>ประธานาธิบดีสหรัฐบารัก โอบามา ถือแก้วขณะเดินออกจากการประชุมผู้นำเอเชียตะวันออก 18 ประเทศ ที่จัดขึ้นในกรุงพนมเปญวันอังคาร 20 พ.ย.2555 ผู้นำสหรัฐท้าทายการประท้วงของฝ่ายจีนโดยเรียกร้องให้ทุกฝ่ายในกรณีพิพาททะเลจีนใต้ต้องอดทนและอดกลั้น ขณะที่ผู้นำจีนไม่ต้องการให้สหรัฐยุ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้และยืนยันไม่มีการเจรจาปัญหาน่านน้ำในเวทีเช่นนี้ ทั้งยังประกาศอย่างชัดเจนจากปากผู้นำจีนเป็นครั้งแรกว่า การครอบครองทะเลจีนใต้เป็นสิ่งที่ชอบธรรมและจีนจะต้องป้องกันเอกราชอธิปไตยของตน. --  AFP Photo/Christophe Archambault.</b>
.

ASTVผู้จัดการออนไลน์ - การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกในกรุงพนมเปญวันอังคารนี้ ได้กลายเป็นเวทีแห่งการปะทะคารม และตอกย้ำจุดยืนต่อปัญหาทะเลจีนใต้อย่างตรงไปตรงมา ระหว่างผู้นำจีนกับผู้นำสหรัฐฯ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่เป็น และยังเป็นครั้งแรกอีกเช่นกัน ที่ผู้นำจีนประกาศว่าการครอบครองทะเลจีนใต้เป็นสิ่งที่ชอบธรรม

จีนไม่ปรารถนาที่จะหยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นมาหารือ “ในโอกาสเช่นนี้” และยังยืนยันด้วยว่า จีนสามารถจัดการกับปัญหาความขัดแย้งได้เป็นอย่างดี ทั้งๆ ที่ไม่ใช่ปัญหาที่ฝ่ายจีนก่อขึ้น นายเวินเจียเป่ากล่าวในวันเดียวกัน ทั้งนี้ เป็นรายงานของสำนักข่าวเอเอฟพี

ประธานาธิบดีสหรัฐฯ บารัค โอบามา ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ เรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการพิพาททะเลจีนใต้ใช้ความอดทน และอดกลั้น และท้าทายฝ่ายจีนที่ประท้วงต่อการเข้ายุ่งเกี่ยวของสหรัฐฯ

นายโอบามาได้ให้น้ำหนักต่อการประกาศครอบครองพื้นที่ทะเลจีนใต้เกือบทั้งหมดโดยฝ่ายจีน ซึ่งเรื่องนี้ส่งผลสะท้านสะเทือนข้ามมหาสมุทรแปซิฟิก ทั้งด้านเศรษฐกิจ และการทูต เช่นเดียวกันกับปัญหาพิพาทระหว่างจีน ญี่ปุ่น กับเกาหลี เหนือหมู่เกาะเล็กๆ ในแปซิฟิกซึ่งทำให้เกิดความตึงเครียดขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนมานี้

“ผมคิดว่าประธานาธิบดีโอบามาได้ส่งสารแสดงให้เห็นความจำเป็นที่จะต้องลดความตึงเครียดลง.. เพื่อประกันว่า ความขัดแย้งเหล่านี้จะไม่แพร่ขยาย” นายเบน โรดส์ ผู้ช่วยอาวุโสคนหนึ่งของประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าว

ในการโต้ตอบต่อการวิพากษ์วิจารณ์ของผู้นำสหรัฐฯ กับผู้นำเอเชียคนอื่นๆ ในการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก 18 ประเทศในเมืองหลวงของกัมพูชา นายเวินเจียเป่า นรม.จีน ได้สร้างความแปลกใจให้แก่ทุกฝ่ายโดยออกปกป้องการกล่าวอ้างของฝ่ายจีน

“เราไม่ต้องการนำเอาข้อขัดแย้งต่างๆ เหล่านี้ขึ้นมาในโอกาสเช่นนี้” นายเวินบอกแก่นายโอบามา และผู้นำชาติอื่นๆ ในโอกาสสุดท้ายของการประชุมอันสำคัญที่จัดขึ้นปีละครั้ง นางฟู่อิงรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีนเป็นผู้เปิดเผยเรื่องนี้

“การกระทำของจีนในการปกป้องอธิปไตยเป็นสิ่งจำเป็น และมีความชอบธรรม.. และเราจัดการกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่จีนไม่ได้ก่อขึ้นได้เป็นอย่างดี” รมช.ต่างประเทศจีนอ้างคำกล่าวของผู้นำจากปักกิ่งในที่ประชุม

กัมพูชาเป็นประเทศสุดท้ายในการตระเวนเยือนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ ปธน.สหรัฐฯ ซึ่งเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ดำรงตำแหน่งที่ได้เข้าร่วมการประชุมเวทีนี้ ในขณะที่สหรัฐฯ หันเปลี่ยนนโยบายจากตะวันออกกลางมาให้ความสำคัญต่อเอเชียแปซิฟิก ท่ามกลางความวิตกกังวลต่อการขยายอำนาจอิทธิพลของจีนเข้าสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ปธน.สหรัฐฯ เริ่มการเยือนที่ประเทศไทย ก่อนจะเดินทางเยือนพม่าเป็นครั้งประวัติศาสตร์ ถึงแม้จะใช้เวลาเพียงประมาณ 6 ชั่วโมงก็ตาม ทั้งนี้ เพื่อกระชับอิทธิพลของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้ พม่าเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดของจีนอีกประเทศหนึ่ง แต่กำลังปฏิรูปประชาธิปไตยหลังจากระบอบทหารปกครองมานานครึ่งศตวรรษ

นายโอบามา เดินทางออกจากกรุงพนมเปญในคืนวันอังคารนี้ เพื่อกลับสหรัฐฯ เอเอฟพีกล่าว
.
 <bR><FONT color=#000033>พระราชาธิบดีฮัสซานัลโบลเกียห์แห่งบรูไน (ซ้ายสุด) ประธานาธิบดีสหรัฐ กับ นรม.กัมพูชาฮุนเซน นรม.จีนเวินเจียเป่าและ นรม.ออสเตรเลียจูเลีย กิลลาร์ด ร่วมกันถ่ายภาพก่อนการประชุมอาเซียน-เอเชียตะวันออก วันอังคาร 20 พ.ย.นี้ ซึ่งได้กลายเป็นเวทีตอบโต้กันครั้งแรกระหว่างผู้นำจีนกับผู้นำสหรัฐต่อปัญหาทะเลจีนใต้ แม้จะไม่ได้เกิดขึ้นซึ่งหน้ากันก็ตาม. -- REUTERS/Damir Sagolj. </b>
.
จีนซึ่งประกาศครอบครองพื้นที่ทะเลจีนใต้เกือบทั้งหมด ต้องการเจรจาปัญหาพิพาทกับคู่กรณีเป็นรายๆ ไป ซึ่งรวมทั้ง 4 ประเทศสมาชิอาเซียนอันได้แก่ บรูไน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม คู่กรณีอีกรายหนึ่งคืนไต้หวัน ซึ่งแต่ละฝ่ายกล่าวอ้างทั้งหมด หรือบางส่วนของน่านน้ำที่เชื่อว่ารุ่มรวยด้วยน้ำมันดิบ

ความขัดแย้งได้นำไปสู่ความตึงเครียดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างจีน กับเวียดนาม และฟิลิปปินส์ ซึ่งทำให้เกิดความไม่ลงรอยอย่างลุ่มลึกภายในกลุ่มอาเซียน ที่หวังจะพัฒนาการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ปีนี้ กัมพูชาซึ่งเป็นพันธมิตรใกล้ชิดกับจีนมากที่สุดในอาเซียนได้ทำหน้าที่ประธานของกลุ่ม ซึ่งทำให้จีนสามารถใช้ประโยชน์ทางการทูตได้อย่างเต็มที่ จีนกล่าวอ้างว่า อาเซียนทั้ง 10 ประเทศได้ตกลงจะไม่ทำให้กรณีทะเลจีนใต้กลายเป็น “ปัญหาระหว่างประเทศ” แต่ฟิลิปปินส์ได้ออกปฏิเสธทันควันไม่มีการตกลงดังกล่าว

อาเซียนแตกคอกันครั้งแล้วครั้งเล่าเกี่ยวกับเรื่องนี้ การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศเดือน ก.ค.ปีนี้ ยุติลงโดยอาเซียนไม่สามารถออกคำแถลงใดๆ ได้ ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 45 ปีของกลุ่ม

“เราจะมีฉันทมติได้อย่างไร ฉันทมติหมายถึง 100 เปอร์เซ็นต์ มันจะมีฉันทมติได้อย่างไร ในเมื่อเราทั้งสองต่างพูดว่า เราไม่ยุ่งด้วย” นายอัลแบร์ เดล รอสซาริโอ รมว.ต่างประเทศฟิลิปปินส์กล่าวกับผู้สื่อข่าวหลังการประชุม และเปิดเผยด้วยว่า ประเทศที่ไม่ยอมตกลงอะไรกับผู้ใดนั้นคือ เวียดนาม

เวียดนามได้กล่าวอ้างสองหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ทั้งหมดคือ หมู่เกาะพาราเซลที่อยู่ตอนเหนือ และสแปร็ตลีย์ทางใต้ จึงเป็นคู่พิพาทรายใหญ่ที่สุดกับจีน แต่ถึงกระนั้นเวียดนามก็ไม่ได้แสดงอาการยินดียินร้ายที่สหรัฐฯ จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวในเรื่องนี้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ในท่ามกลางความขัดแย้ง และความตึงเครียด บรรดาผู้นำ 18 ประเทศก็สามารถสร้างความคืบหน้าทางการค้าได้ในการประชุมปีนี้ โดยกลุ่มอาเซียนจะเริ่มเจรจาเพื่อก่อตั้งกลุ่มตกลงด้านการค้าขนาดใหญ่กับจีน ญี่ปุ่น อินเดีย เกาหลี ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

ขณะเดียวกัน รัฐมนตรีการค้าจากจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี ก็ได้เริ่มเจรจาทำความตกลงการค้าสามฝ่าย

“ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะเสี่ยงทำให้ (กรณีพิพาท) บานปลายออกไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคุณมีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลกถึง 2 ประเทศ -- จีน และญี่ปุ่น -- รวมอยู่ในกรณีพิพาทเหล่านั้นด้วย” ผู้ช่วยของนายโอบามา เบนโรดส์ อ้างคำกล่าวของ ปธน.สหรัฐฯ ในที่ประชุม.
กำลังโหลดความคิดเห็น