เอเอฟพี - นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน เตือนว่าเหตุนองเลือดขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติในพม่าอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางรากฐานของชนกลุ่มน้อยมุสลิมโรฮิงญา และทำให้ทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไร้เสถียรภาพ
เลขาฯ อาเซียน เรียกร้องให้ประชาคมโลกเข้าช่วยเหลือหลังเกิดเหตุปะทะกันในรัฐยะไข่ ทางภาคตะวันตกของพม่าระหว่างชาวมุสลิม และชาวพุทธในเดือนนี้ ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 88 คน และมีผู้ไร้ที่อยู่อาศัยอีกมากกว่า 26,000 คน
“ชาวโรฮิงญาในพม่าเผชิญกับแรงกดดันอย่างมหาศาล ความเจ็บปวด และความทุกข์ทรมาน” หนังสือพิมพ์จาการ์ตาโพสต์ รายงานอ้างคำกล่าวของนายสุรินทร์ พิศสุวรรณ ที่กล่าวในการประชุมสิทธิมนุษยชนในเมืองหลวงของอินโดนีเซีย
“หากประชาคมโลก รวมทั้งอาเซียนไม่สามารถบรรเทาแรงกดดัน และความเจ็บปวดของชาวโรฮิงญาได้ อาจกลายเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ และภูมิภาคอาจไร้เสถียรภาพ รวมทั้งคาบสมุทรมะละกา” นายสุรินทร์กล่าว ทั้งนี้ คาบสมุทรมะละกาเป็นเส้นทางเดินเรือสินค้าสำคัญระหว่างมหาสมุทรอินเดีย และแปซิฟิก
อาเซียนพร้อมที่จะเสนอความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อพม่า จากที่เคยให้ความช่วยเหลือหลังเหตุการณ์ไซโคลนนาร์กิสพัดถล่มพม่าในปี 2552 ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 138,000 คน
“เราสามารถช่วยเหลือพวกเขาบรรเทาจากความยากจน การขาดแคลนอาหาร ที่พัก และสุขอนามัย” นายสุรินทร์กล่าว
ความไม่ลงรอยกันยาวนานหลายทศวรรษระหว่างชาวพุทธ และโรฮิงญาเกิดปะทุขึ้นในเดือน มิ.ย. หลังเหตุการณ์ฆ่าขมขืนหญิงชาวยะไข่ ที่กลายเป็นชนวนเหตุให้เกิดการโจมตีแก้แค้นกันไปมาอีกหลายระลอก
ยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุปะทะกันในรัฐยะไข่ของพม่านับตั้งแต่เดือน มิ.ย. มีจำนวนถึง 180 คน แต่กลุ่มสิทธิมนุษยชนระบุว่า จำนวนผู้เสียชีวิตที่แท้จริงนั้นอาจสูงกว่าที่ทางการระบุไว้.