xs
xsm
sm
md
lg

ภาพชุด -- เร่งขุดหาศพจีไอในเวียดนาม ก่อนสูญหายไปกับกาลเวลา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>ภาพถ่ายวันที่ 25 พ.ค. นักมนุษยวิทยาสหรัฐฯ (ซ้าย) กำลังรวบรวมชิ้นส่วนที่พบระหว่างร่อนดินในตะแกรงที่แหล่งขุดค้นผู้สูญหายระหว่างปฏิบัติหน้าที่ ในจ.กว่างนาม. --  AFP PHOTO/Chau Doan. </font></b>
.

เอเอฟพี - ในหุบเขาห่างไกลในเวียดนาม เจ้าหน้าที่สอบสวนสหรัฐฯ ยังคงร่อนดินผ่านตะแกรงเพื่อค้นหาอัฐิทหารสหรัฐฯ ที่เสียชีวิตในช่วงสงคราม แม้จะค้นพบอัฐิเจ้าหน้าที่ที่เสียชีวิตแล้วหลายร้อยนาย แต่การตามล่าค้นหายังคงดำเนินต่อไปสำหรับผู้ที่ยังถูกระบุว่าเป็นผู้สูญหายอีกจำนวนมาก และแน่นอนว่าการค้นหานี้ต้องแข่งกับเวลาที่เหลือน้อยลงเรื่อยๆ

ด้วยพยานที่สูงอายุขึ้น ความเป็นกรดในดินที่กัดกร่อนทำลายอัฐิ และการรุกล้ำพัฒนาที่ดินที่รวดเร็วในพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่ทหารเสียชีวิตระหว่างสงครามเวียดนาม เจ้าหน้าที่สอบสวนเตือนว่า มีเวลาเหลืออีกไม่มากนักก่อนที่หลักฐานทุกอย่างจะสูญหายไป

ในเดือน พ.ค.2511 เกิดระเบิดหลายระลอกในหุบเขาที่สงบเงียบแห่งนี้ในการต่อสู้รอบค่ายกองกำลังพิเศษขามดึ๊ก (Kham Duc) ในจ.กว่างนาม ที่เดินทางด้วยเฮลิคอปเตอร์นาน 1 ชั่วโมงจากสนามบินด่าหนัง

กว่า 40 ปีต่อมา ทีมค้นหาร่วมระหว่างสหรัฐฯ และเวียดนามกำลังตามล่าหาอัฐินายทหารที่สูญหาย และพวกเขาต้องค้นหาให้พบก่อนที่ร่องรอยทั้งหมดจะจางหายไป

“เรามักจะพบแต่ชิ้นส่วนแตกหักของโลหะ พื้นที่บริเวณนี้ถูกระเบิดถล่มหนักมาก ประมาณ 90% ของสิ่งที่พบ (ชิ้นส่วนกระดูกและอัฐิ) ต้องร่อนผ่านตะแกรง” นักมนุษยวิทยาของทีมกล่าว

ในพื้นที่ขามดึ๊ก แรงงานชาวเวียดนามยืนเรียงแถวส่งต่อถังบรรจุดินที่ขุดขึ้นจากหลุมตื้นไปยัง “สถานีหลักฐาน” ที่เป็นจุดสำหรับร่อนดินผ่านตะแกรงขนาดใหญ่หลายสิบอัน

ทหารอเมริกันเกือบ 60,000 นายเสียชีวิตในยุคสงครามเย็นที่คร่าชีวิตพลเรือน และทหารเวียดนามไปมากถึง 3 ล้านคน ก่อนสงครามจะยุติลงในปี 2518

เมื่อเสียงปืนสงบลง มีทหารอเมริกันสูญหาย 1,971 นาย ตามการระบุของคณะกรรมการร่วมค้นหาเชลยศึก และผู้ที่สูญหายระหว่างปฏิบัติหน้าที่ หรือ JPAC (The Joint POW/MIA Accounting Command) ที่เป็นผู้ดำเนินการค้นหาผู้สูญหายระหว่างปฏิบัติหน้าที่

นับตั้งแต่นั้น JPAC ได้ค้นพบอัฐิทหาร 687 นายที่สามารถระบุเอกลักษณ์บุคคลได้และส่งกลับประเทศ ขณะที่นายหทารอีก 586 นาย ถูกระบุอยู่ในรายชื่อว่าเป็นผู้ที่ไม่สามารถค้นหาอัฐิได้พบ แต่ JPAC ยังคงค้นหาผู้สูญหายอีกประมาณ 700 นายต่อไป

“อัฐิที่พบจากพื้นที่ในเวียดนามเวลานี้อยู่ในสภาพเศษเล็กเศษน้อย” นายรอด เวิร์ด จาก JPAC กล่าว และว่าอัฐิที่เหลือกำลังถูกทำลายย่อยสลายจากกรดในดิน และการพัฒนาที่ดิน ดังนั้น การค้นหาในเวลานี้คือ การแข่งกับเวลา แต่ก็ยังคงมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์เนื่องจากการค้นหาส่วนใหญ่ค่อนข้างใกล้ที่จะเสร็จสิ้นแล้ว

การขุดค้นหาอัฐิในบริเวณขามดึ๊กนี้ ได้รับการชี้แนะจากพยานท้องถิ่นที่พบพื้นที่โดยบังเอิญขณะขุดหาเศษเหล็ก ซึ่งคำว่า “พยาน” ในที่นี้จะใช้เรียกผู้ที่ทราบพิกัดแหล่งค้นหา

เร่งมือหน่อย AFP Photo/Chau Doan

2

3

4

5
พยานส่วนใหญ่มักเป็นผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยของ JPAC ที่ต้องแข่งกับเวลา ยิ่งไปกว่านั้น การพัฒนาของเวียดนาม ส่งผลให้ที่ดินจำนวนมากถูกเปลี่ยนเป็นถนน โรงแรม และไร่กาแฟ

“พยานชาวเวียดนามเริ่มสูงอายุขึ้นเรื่อยๆ และเรากำลังสูญเสียพยานมือหนึ่งเหล่านี้ เมื่อคุณเสียพยานเหล่านั้นไปความสามารถในการปิดคดีก็มักจะสิ้นสุดลงไปด้วย และช่วงไตรมาสที่ 3 และ 4 ของปีก่อน ทุกพื้นที่ที่เราเคยไปในเวลานี้ต่างอยู่ในอันตราย เนื่องจากการพัฒนา” พ.ท.แพททริค คีน ผู้บัญชาการ JPAC สำนักงานกรุงฮานอยกล่าว

และความจริงที่ว่า อัฐิที่พบเป็นชิ้นส่วนเล็กๆ และผุกร่อนลงเพราะกรดในดิน ยังเป็นส่วนที่ทำให้ยากยิ่งขึ้นสำหรับนักวิทยาศาสตร์ของ JPAC ที่จะตรวจหา DNA ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นหากต้องการปิดคดี ดังนั้น จึงไม่สามารถระบุเวลาได้อย่างชัดเจนได้ว่าอีกนานเท่าใดที่หลักฐานเหล่านี้จะสูญหายเนื่องจากขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย

“อีกปัจจัยที่มีความสำคัญต่อการค้นหาคือ ญาติพี่น้องที่ต่างรอคอยผลเกี่ยวกับคนที่เป็นที่รักของพวกเขา และพวกเขาเหล่านั้นกำลังมีอายุมากขึ้น” พ.ท.คีนกล่าว

อัฐิที่พบในการขุดค้นของ JPAC จะถูกบรรจุลงในโลง และส่งไปยังห้องปฏิบัติการของ JPAC ในฮาวาย อัฐิเหล่านี้จะถูกตรวจสอบ DNA ที่ครอบครัวของผู้สูญหายจำเป็นต้องส่งตัวอย่างมาด้วยเช่นกัน หลังจากอัฐิเหล่านี้ถูกระบุเอกลักษณ์ ที่ต้องใช้เวลาระยะหนึ่งซึ่งขึ้นอยู่กับความรวดเร็วในการการหาลำดับ DNA จึงจะสามารถส่งอัฐิกลับประเทศเพื่อให้ครอบครัวจัดพิธีศพอย่างเหมาะสม

ความร่วมมือทวิภาคีพัฒนาขึ้นอย่างมากนับตั้งแต่วันแรกๆ ของปฏิบัติการ และการใช้ทีมค้นหาชาวเวียดนามร่วมด้วยช่วยให้การค้นหาคืบหน้าไปอย่างรวดเร็ว
.


6

7

8

9
“เราต้องการความรวดเร็วเพื่อที่เราจะสามารถทำงานได้เสร็จทันเวลา” พ.อ.ดาว ซวน กิงห์ นายทหารอายุ 61 ปี ที่ดูแลการขุดค้นอัฐิทหารสหรัฐฯ ฝ่ายเวียดนาม กล่าว

ปัญหาผู้สูญหายระหว่างปฏิบัติหน้าที่เป็นหนึ่งในวัตถุประสงค์ข้อแรกๆ ของการตกลงระหว่างอดีตคู่อริที่ช่วยปูทางฟื้นคืนความสัมพันธ์ในปี 2538 ซึ่งทางฝ่ายเวียดนามต้องการให้สหรัฐฯ ช่วยเหลือในการค้นหาทหารที่สูญหายของตัวเองเช่นกัน

รัฐบาลเวียดนามระบุว่า ทหารเวียดนามเหนือประมาณ 300,000 นาย ยังคงอยู่ในบัญชีรายชื่อผู้สูญหายจากสงคราม ขณะที่จำนวนทหารเวียดนามใต้ที่สูญหายระหว่างปฏิบัติหน้าที่นั้นยังไม่ชัดเจน

อุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางความรวดเร็วในการค้นหา คือ ค่าใช้จ่าย ซึ่ง JPAC ประเมินว่า งบประมาณในการปฏิบัติการประจำปีในเวียดนามที่ไม่รวมค่าใช้จ่ายในการลงพื้นที่ อยู่ที่ประมาณ 15 ล้านดอลลาร์ แต่ในปีนี้ JPAC ได้เงินทุนเพิ่มขึ้นซึ่งช่วยให้การลงพื้นที่ค้นหาทำได้หลายทีม และยังช่วยลดระยะเวลาในการค้นหาลงจาก 20 ปี เหลือเพียง 7 ปีเท่านั้น หากการทำงานคืบหน้าในระดับนี้ต่อไป

หน่วยงานทหารผ่านศึกสหรัฐฯ ระบุว่า การค้นหาต้องดำเนินต่อไปไม่ว่าจะเสียค่าใช้จ่ายเท่าใด และตราบเท่าที่ยังมีนายทหารที่ผ่านศึกเวียดนามยังมีชีวิตอยู่

“ทหารอเมริกันถูกบอกเล่าเช่นนี้เสมอว่า เมื่อคุณเข้าสู่สนามรบ และคุณต่อสู้เพื่อปกป้องประเทศของคุณ ประเทศของคุณให้คำมั่นว่าจะนำคุณกลับบ้านอย่างเหมาะสมเพื่อฝังร่างบนผืนดินที่คุณเกิดมา” เสนาธิการผู้ช่วยฝ่ายบริหารทหารผ่านศึกสหรัฐฯ กล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น