เอเอฟพี - ทางการพม่าระบุ ได้ยกเลิกการเซ็นเซอร์สื่อของประเทศ ในวันนี้ (20 ส.ค.) ในความเคลื่อนไหวการปฏิรูปล่าสุดของรัฐบาล ที่สร้างความยินดีให้แก่บรรดาสื่อมวลชนที่ใช้ชีวิตอยู่ภายใต้ระบบเซ็นเซอร์มานานหลายทศวรรษ
การตรวจสอบอย่างเข้มงวดก่อนตีพิมพ์ที่ใช้กับทุกสื่อสิ่งพิมพ์ตั้งแต่หนังสือพิมพ์ไปจนถึงเนื้อเพลง หรือแม้กระทั่งเรื่องราวเทพนิยาย เป็นเครื่องหมายของช่วงชีวิตภายใต้การปกครองของนายทหารที่กินเวลายาวนานเกือบครึ่งศตวรรษจนกระทั่งปีก่อน
“นี่เป็นวันที่ยิ่งใหญ่สำหรับสื่อมวลชนในพม่าที่ทำงานอยู่ภายใต้ข้อจำกัดเหล่านี้มาเป็นเวลานานหลายปี นี่เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของความก้าวหน้าของประเทศภายใต้รัฐบาลประธานาธิบดีเต็งเส่ง” บรรณาธิการอาวุโสจากสำนักพิมพ์ย่างกุ้งรายสัปดาห์ ระบุ
วารสารการเมือง และศาสนาเป็นสิ่งพิมพ์ล่าสุดที่ได้รับอนุญาตให้ตีพิมพ์เผยแพร่โดยไม่ต้องตรวจพิจารณาที่เริ่มขึ้นตั้งแต่วันนี้ (20 ส.ค.)
“ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป สิ่งพิมพ์ในประเทศไม่จำเป็นต้องส่งเนื้อหาให้แก่คณะกรรมการตรวจพิจารณา” นายติน ฉ่วย ผู้อำนวยกรมการตรวจสอบและจดทะเบียนสื่อ (PSRD) กล่าว
การเซ็นเซอร์เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 6 ส.ค.2507 และสิ้นสุดลงหลังผ่านมาเป็นเวลา 48 ปีกับอีก 2 สัปดาห์ อดีตเจ้าหน้าที่ทหารนายหนึ่งกล่าวผ่านทางโทรศัพท์จากกรุงเนปีดอ
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่จากกระทรวงสารนิเทศระบุว่า ทางการยังคงมาตรการตรวจสอบเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ไว้เช่นเดิม และผู้สื่อข่าวโทรทัศน์ต้องตรวจสอบเนื้อหาข่าวด้วยตนเอง โดยการขอคำแนะนำเกี่ยวกับข่าวประเด็นอ่อนไหว
นับตั้งแต่ขึ้นบริหารประเทศเมื่อปีก่อน ประธานาธิบดีเต็งเส่งได้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงประเทศในหลายประการ เช่น การปล่อยตัวนักโทษการเมืองหลายร้อยคน และการเลือกตั้งนางอองซานซูจี แกนนำฝ่ายค้านเข้าสู่สภา
ผู้สื่อข่าวที่ถูกจำคุกภายใต้รัฐบาลเผด็จการทหารได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระ และการตัดสินใจยกเลิกการเซ็นเซอร์ได้รับการต้อนรับพร้อมความผ่อนคลายภายในกองบรรณาธิการข่าวทั่วทั้งนครย่างกุ้ง
“ในฐานะนักข่าว ฉันดีใจที่เราไม่ต้องส่งเนื้อหาข่าวให้แก่คณะกรรมการอีกต่อไป เรากังวลอยู่นานหลายปี และมันก็สิ้นสุดลงในวันนี้” นางเนง เนง นาย บรรณาธิการบริหารวารสารเซเว่น เดย์ส นิวส์ กล่าว พร้อมย้ำว่า สื่อยังคงสามารถประสบกับปัญหาได้หลังตีพิมพ์ หากเนื้อหานั้นทางการเห็นว่าบ่อนทำลายความมั่นคงของรัฐ
บรรยากาศที่เปิดกว้างมากขึ้นสามารถเห็นได้จากวารสารข่าวรายสัปดาห์ของเอกชนที่ตีพิมพ์เนื้อหาหลากหลายขึ้น โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับนางอองซานซูจี ผู้นำฝ่ายค้าน ที่ชื่อของนางนั้นเคยเป็นสิ่งต้องห้ามในอดีต แต่อย่างไรก็ตาม ทั้งสื่อและทางการต่างอยู่ในระหว่างการปรับตัวเข้ากับยุคใหม่ของการเปิดกว้างนี้.