.
เอเอฟพี - พม่าจะจัดงานเฉลิมฉลองความภาคภูมิใจของชาวเกย์ครั้งแรกของประเทศวันนี้ (17 พ.ค.) ผู้จัดงานเผย หลังจากทัศนคติทางสังคมมีความเสรีมากขึ้นควบคู่ไปกับการปฏิรูปการเมืองในประเทศที่เคยตกอยู่ภายใต้การปกครองของกองทัพทหารพม่า
ความสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกัน ถือเป็นความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญาที่ใช้มาตั้งแต่ยุคอาณานิคม แม้จะไม่ได้บังคับใช้อย่างเคร่งครัดแล้วในตอนนี้ แต่นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า กฎหมายเหล่านี้ยังคงถูกเจ้าหน้าที่พม่านำมาใช้เพื่อรีดไถ และเลือกปฏิบัติต่อชาวเกย์
นายออง เมียว มิน จากสถาบันการศึกษาสิทธิมนุษยชนแห่งพม่า ระบุว่าการเฉลิมฉลองเป็นส่วนหนึ่งของวันต่อต้านความรังเกียจผู้มีความหลากหลายทางเพศ (International Day Against Homophobia and Transphobia หรือ IDAHO ตรงกับวันที่ 17 พฤษภาคมของทุกปี) และจะจัดขึ้นใน 4 เมืองทั่วประเทศ คือ นครย่างกุ้ง เมืองมัณฑะเลย์ เมืองจอก์ปะด่อง และเมืองมอญยอ แต่การจัดงานจะไม่มีการเดินขบวนพาเหรดเช่นเดียวกับที่ปรากฎในประเทศเสรีอื่นๆ แต่จะมีการแสดงดนตรี การแสดงละคร สารคดี และการเสวนาโดยนักเขียนต่างๆ ซึ่งการจัดงานเช่นนี้เคยถูกห้ามอย่างเป็นทางการมาก่อน
“ในอดีต ผู้คนที่เข้าร่วมงานในลักษณะนี้จะถูกเหมารวมว่ากระทำการต่อต้านรัฐบาล ที่เป็นลักษณะคล้ายกับการชุมนุมประท้วง ในตอนนี้สังคมของ LGBT (เกย์ เลสเบียน ผู้รักทั้ง 2 เพศ และผู้แปลงเพศแล้ว) ได้รับการสนับสนุนกว่าแต่ก่อน และพวกเขากล้าที่จะเปิดเผยรสนิยมทางเพศของตนเอง” นายออง เมียว มิน กล่าว
การเมืองแบบเผด็จการ คติความเชื่อทางศาสนา และค่านิยมทางสังคม ทำให้ชาวเกย์ในพม่าจำนวนมากเลือกที่จะหลบซ่อนตัวตน แตกต่างจากประเทศเพื่อนบ้านเช่นไทย ที่ชาวเกย์และผู้ที่ผ่าตัดแปลงเพศได้รับการยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของสังคม แม้ทั้งสองประเทศจะมีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติเช่นเดียวกันก็ตาม
นายออง เมียว มิน กล่าวว่า การเข้าร่วมงานในระดับนานาชาติจะช่วยให้ประชากรชาวเกย์ของพม่ามีสิทธิมีเสียงมากขึ้นในสังคม รวมทั้งยังเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกกฎหมายอาชญากรรมเกี่ยวกับรักร่วมเพศ
“พวกเขาจะได้รับการสนับสนุนให้เปิดเผยเรื่องทางเพศของตนเองมากขึ้น และหากเราไม่เลือกปฏิบัติต่อพวกเขา และเคารพในความหลากหลาย โลกจะน่าอยู่ขึ้นกว่าตอนนี้” นายออง เมียว มิน กล่าว
ข้อห้ามในอดีตเกี่ยวกับรักร่วมเพศในพม่ายังจำกัดการรับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับสุขภาพทางเพศในหมู่ชาวเกย์ ซึ่งตามรายงานของโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติประจำปี 2553 ระบุว่า ในบางพื้นที่ เช่น กรุงย่างกุ้ง และเมืองมัณฑะเลย์ ร้อยละ 29 ของชายรักชายพบมีเชื้อเอชไอวี.
.