ย่างกุ้ง (รอยเตอร์) - นายบันคีมูน เลขาธิการสหประชาชาติ เดินทางเยือนพม่าครั้งสำคัญในวันอาทิตย์ 29 เม.ย.นี้ เพื่อเร่งเร้าให้รัฐบาลประเทศที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดำเนินการปฏิรูปประชาธิปไตยและเร่งเจรจาสร้างสันติภาพกับบรรดากบฏชนกลุ่มน้อยต่อไป
การเดินทางของนายบันนับเป็นครั้งแรกตั้งแต่รัฐบาลกึ่งพลเรือนขึ้นสู่อำนาจเมื่อหนึ่งปีก่อน สิ้นสุดการปกครองโดยระบอบทหารที่ดำเนินมา 5 ทศวรรษ กับความสัมพันธ์อันเย็นชา และขึ้นๆ ลงๆ กับประชาคมระหว่างประเทศ
การไปเยือนของนายบัน มีขึ้นพร้อมๆ กันกับการเยือนของ นายแคธรีน แอชตัน หัวหน้าฝ่ายนโยบายการต่างประเทศของสหภาพยุโรป ซึ่งได้ “เปิดหน้าใหม่” ความสัมพันธ์ ในขณะที่บรรดาบริษัทต่างๆ ของยุโรปกำลังแสวงหาโอกาสเข้าไปมีส่วนแย่งในทรัพยากรธรรมชาติที่ยังเกือบจะสมบูรณ์ของพม่า
ขณะเดียวกัน พม่าเองซึ่งนำโดยอดีตผู้นำคณะปกครองทหารกลุ่มหนึ่งก็ได้ทำให้โลกภายนอกทึ่งด้วยการปฏิรูปเศรษฐกิจ และการติดต่อสัมพันธ์กับโลกตะวันตกอย่างไม่เคยมีมาก่อน รวมทั้งการเจรจากับพรรคการเมืองฝ่ายค้าน และกลุ่มกบฏชนชาติส่วนน้อย
“เรามองว่า พม่ากำลังเปิดตัวเองออกสู่โลก” นายบันกล่าวกับหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ ก่อนหน้านี้ แต่ก็กล่าวเช่นกันว่า “การเริ่มต้นใหม่ ยังคงเปราะบางอยู่”
ในไม่กี่เดือนมานี้ บรรดานักการเมืองจากตะวันตกต่างไปเยือนพม่า เพื่อเร่งเร้าและให้กำลังใจให้เดินหน้าปฏิรูปต่อไป รวมทั้งนางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ นายเดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ
.
นายบันเดินทางถึงกรุงย่างกุ้งเพื่อดูประเทศที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างน่าทึ่ง นับตั้งแต่ไปครั้งสุดท้ายในปี 2552 โดยการเชื้อเชิญของพลเอกอาวุโสตานฉ่วยผู้นำคณะปกครองทหาร ที่พยายามสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ระบอบปกครองในประเทศ
นายบันเดินทางกลับครั้งนั้นด้วยความว้าวุ่นใจ เนื่องจากไม่สามารถชักชวนให้ พล.อ.ตานฉ่วยปล่อยนักโทษการเมืองให้เป็นอิสระได้ และยังถูกปฏิเสธไม่ให้พบนางอองซานซูจี เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ซึ่งในขณะนั้นถูกกักบริเวณในบ้านพัก ก่อนจะถูกปล่อยตัวในอีก 15 เดือนต่อมา
นับตั้งแต่ตานฉ่วยก้าวลงจากอำนาจในวันที่ 30 มี.ค.ปีที่แล้ว หรือสี่เดือนหลังการเลือกตั้งที่หลายฝ่ายกล่าวว่า เต็มไปด้วยการโกง พล.อ.เต็งเส่ง อดีตผู้นำหมายเลข 4 ได้กลายเป็นประธานาธิบดี และได้นำนางซูจีกลับคืนสู่การเมืองอีกครั้งหนึ่ง
รัฐบาลของประธานาธิบดีเต็งเส่งได้เริ่มยกเครื่องเศรษฐกิจที่กระจัดกระจาย ลดผ่อนการเซ็นเซอร์สื่อต่างๆ ทำให้การก่อตั้งสหภาพแรงงาน และการปะท้วงเป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งตกลงหยุดยิงกับกองกำลังชนกลุ่มน้อยนับสิบกลุ่ม
เต็งเส่งมีแผนที่จะเปลี่ยนคณะเจรจาชุดใหม่หลังจากล้มเหลวที่จะสร้างความคืบหน้าใดๆ หลังเจรจากับกบฏกะฉิ่นกับผู้นำฝ่ายการเมืองของกลุ่มนี้มาถึง 6 รอบ แหล่งข่าวสองแหล่งที่ใกล้ชิดกับเรื่องนี้เปิดเผยกับรอยเตอร์
นายบันมีกำหนดเข้าพบหารือกับประธานาธิบดีเต็งเส่ง กับนายพลอีกจำนวนหนึ่งที่เคยเป็นวงในของพลเอกตานฉ่วย แต่ปัจจุบันถูกมองว่า เป็นตัวหลักในการผลักดันการเปลี่ยนแปลงที่น่าทึ่ง ที่ทำให้สหภาพยุโรป สหรัฐฯ ออสเตรเลีย แคนาดา ผ่อนคลายการคว่ำบาตรพม่าในเดือนนี้ และเริ่มให้การช่วยเหลือ ขณะที่ญี่ปุ่นยกหนี้ให้ส่วนหนึ่ง
นายบันมีกำหนดเดินทางไปยังกรุงเนปีดอในค่ำวันอาทิตย์ การเยือนครั้งนี้ยังรวมทั้งการเดินทางไปยังรัฐชานในภาคเหนือ ซึ่งเป็นแหล่งปลูกฝิ่นใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และเป็นแหล่งที่สหประชาชาติกำลังรณรงค์กำจัดฝิ่น ซึ่งยูเอ็นกล่าวว่า กำลังคืบหน้าไปอย่างสำคัญ
นายบันกำลังจะหารือเกี่ยวกับการขัดทำสำมะโนประชากรที่สหประชาชาติช่วยเหลือพม่าให้แล้วเสร็จในปี 2547 ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 30 ปี และจะเข้าปราศรัยในที่ประชุมรัฐสภาพม่า.