รอยเตอร์ - ทันทีที่การเลือกตั้งซ่อมในพม่าผ่านพ้นไปได้ด้วยดี หลายประเทศประกาศที่จะพิจารณาและผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรเป็นรางวัลตอบแทนการปฏิรูปของพม่าและสนับสนุนให้พม่าเดินหน้าปฏิรูปอย่างต่อเนื่อง แม้การผ่อนคลายยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรจะช่วยให้พม่าเดินหน้าพัฒนาประเทศต่อไปได้ ขณะเดียวกัน ก็เอื้อประโยชน์ให้แก่นักลงทุนจากชาติต่างๆ ใช้ประโยชน์จากการเปิดประเทศในครั้งนี้ เช่น อังกฤษที่ระบุว่า จะระงับคว่ำบาตร และจะผลักดันให้สหภาพยุโรปพิจารณายกเลิกมาตรการคว่ำบาตรในระหว่างการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของสหภาพยุโรป ในวันที่ 23 เม.ย. นี้ ก็เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบในการเข้าไปลงทุนในพม่า ก่อนสหรัฐอเมริกา หรือประเทศอื่น รวมทั้งหลายประเทศที่ไม่มีการคว่ำบาตรพม่า เช่น จีน ญี่ปุ่น อินเดีย หรือแม้แต่เพื่อนบ้านอย่างประเทศไทย ที่ได้เข้าไปดำเนินธุรกิจในพม่าแล้ว
ขณะที่นักลงทุนต่อคิวเรียงแถวอยู่หน้าประตูบ้านในขณะนี้ แต่ระบบโครงสร้างพื้นฐานอย่างพลังงานไฟฟ้าที่เป็น 1 ในปัจจัยสำคัญที่นักลงทุนต่างชาติต้องคิดหนักก่อนจะเข้าไปในลงทุนไม่ว่าในประเทศใดก็ตาม กลับขาดแคลน และไม่เพียงพอใช้บริโภคภายในประเทศ
หลายพื้นที่ในพม่ายังพบว่า ไฟฟ้าเข้าไม่ถึง ประชาชนจำเป็นต้องใช้เครื่องปั่นไฟ เช่น หมู่บ้านแห่งหนึ่งในภาคกลางของประเทศที่ระบุว่า เครื่องปั่นไฟเครื่องเดียวรองรับความต้องการของชาวบ้านกว่า 200 คน บางหมู่บ้านแม้จะตั้งอยู่ใจกลางแหล่งน้ำมัน แต่กลับไม่เชื่อมต่อกับโครงข่ายไฟฟ้าหลักของประเทศ ก็ต้องอาศัยพึ่งพาพลังงานจากแบตเตอร์รี่รถยนต์ หรือก่อกองไฟเพื่อให้มีแสงสว่างในเวลากลางคืน
ปัญหาขาดแคลนพลังงานราคาถูก และเชื่อถือได้เช่นนี้ ผู้เชี่ยวชาญมองว่า จะชะลอเศรษฐกิจที่คาดว่าจะเฟื่องฟูหลังเปิดประเทศ และเมื่อมาตรการคว่ำบาตรถูกยกเลิกลง และเมื่อปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข ก็ทำให้ประชาชนและนักธุรกิจต้องพึ่งพาเครื่องผลิตไฟฟ้าราคาแพงและน้ำมันนำเข้า ส่วนบรรษัทข้ามชาติที่จ่อเตรียมเข้าลงทุนในพม่าที่เป็นปราการสุดท้ายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่อุดมด้วยทรัพยากร มองว่า ปัญหาขาดแคลนไฟฟ้านี้เป็นทั้งข้อดีและข้อเสีย เพราะพลังงานที่เอาแน่เอานอนไม่ได้เป็นอุปสรรคที่ทำให้การลงทุนล่าช้า แต่อีกด้านหนึ่งถือว่าเป็นโอกาสเข้าลงทุนในการขยายโครงข่ายพลังงานในพม่า
การปฏิรูปอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในช่วงปีที่ผ่านมา สร้างความคาดหวังว่าคลื่นการลงทุนจากต่างชาติจะช่วยพัฒนาระบบไฟฟ้าของประเทศ หากรัฐบาลพม่าให้ความสำคัญกับการแก้ไขภาคส่วนนี้เป็นอย่างแรก แต่แม้ว่าการปฏิรูปจะคืบหน้ารวดเร็วมากเท่าใด ก็ยังต้องใช้เวลา เนื่องจากในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ภาคส่วนพลังงานของพม่าถูกละเลยและไม่ได้รับการจัดการที่ดี ยิ่งไปกว่านั้น การยกเลิกโครงการไฟฟ้าสำคัญ 2 โครงการ คือ โครงการเขื่อนมิตโสน ที่จีนให้การสนับสนุน และโรงไฟฟ้าถ่านหินทวายของไทย ที่รัฐบาลพม่าตอบสนองข้อร้องเรียนจากสาธารณชนเกี่ยวกับปัญหาทำลายสิ่งแวดล้อม อาจทำให้ปัญหาด้านพลังงาน และการลงทุนในอนาคตถอยหลังไปอีก ดังนั้น เม็ดเงินลงทุนจำนวนหลายพันล้านดอลลาร์ในภาคพลังงานจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากที่สุด และเป็นหนึ่งในหลายคำถามที่จะได้ยินจากผู้ที่ประสงค์จะเข้าตั้งฐานการผลิตไม่ว่าในประเทศใดก็ตาม
พม่าเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ใช้พลังงานไฟฟ้าน้อยที่สุดในโลกเฉลี่ยเพียง 104 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมงต่อคน เนื่องจากมีประชากรเพียงร้อยละ 25 ที่เข้าถึงโครงข่ายไฟฟ้า นอกจากนั้น ค่าไฟของพม่ายังแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ เช่น ในนครย่างกุ้ง ที่เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของประเทศ ค่าไฟอยู่ที่ 35 จ๊าตต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง แต่ค่าไฟจะปรับสูงขึ้น 12 เท่า ในเมืองซิตตเว ที่ตั้งอยู่ทางตะวันตกของประเทศ
สำนักงานสถิติแห่งชาติพม่าระบุว่า ไฟฟ้าพลังงานน้ำเป็นแหล่งพลังงานมากถึงเกือบร้อยละ 70 ของแหล่งผลิตพลังงานในประเทศ ขณะที่เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติครอบคลุมอยู่ที่ร้อยละ 20 และพลังงานจากถ่านหินอีกร้อยละ 9 ส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าของพม่าในปีงบประมาณ 2554-2555 อยู่ที่ 2,544 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้นจาก 1,717 เมกะวัตต์ เมื่อ 4 ปีก่อน และกระทรวงพลังงานไฟฟ้ายังเปิดเผยว่า พม่ามีแผนโครงการก่อสร้างแหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้า 48 โครงการ โดยเป็นโครงการเขื่อนไฟฟ้า 45 โครงการ ที่จะเพิ่มขนาดการผลิตพลังงานในประเทศมากขึ้น 14 เท่า เป็น 36,635 เมกะวัตต์
ในอีกแง่หนึ่ง พม่าอาจเพิ่มขนาดการผลิตของประเทศด้วยการใช้ประโยชน์มากขึ้นจากแหล่งก๊าซธรรมชาติของประเทศ ที่คาดว่ามีอยู่ราว 11-23 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต ปัจจุบัน พม่าผลิตก๊าซได้ประมาณ 1,470 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แต่ส่งออกไปไทยถึง 1,200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และใช้ภายในประเทศเพียง 270 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งตอบสนองความต้องการภายในประเทศแค่ร้อยละ 48 เท่านั้น ซึ่งถือว่าไม่เพียงพอสำหรับใช้งานภายในประเทศ และสำหรับภาคเอกชนได้รับส่วนแบ่งก๊าซธรรมชาติเพียงแค่ร้อยละ 1 เท่านั้น ซึ่งในอนาคตพม่าวางแผนที่จะแบ่งสัดส่วนก๊าซให้แก่ภาคเอกชนมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลพม่ายังคงมุ่งมั่นที่จะพึ่งการผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนที่จะกลายเป็นแหล่งพลังงานหลักสำหรับอนาคต ซึ่งจะช่วยให้พม่ายังสามารถส่งออกก๊าซธรรมชาติของประเทศไปยังไทยได้ต่อไป และผ่านท่อส่งก๊าซไปยังจีนตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นไป ตามนโยบายสำหรับภาคส่วนพลังงานไฟฟ้าคือ การใช้งานโรงไฟฟ้ากังหันก๊าซเพียงแค่ในระยะสั้น และหันไปพึ่งพาไฟฟ้าพลังน้ำให้เป็นแหล่งคำคัญของพลังงานอย่างพอเพียง รวมทั้งความคาดหวังของรัฐบาลพม่าที่จะสามารถตอบสนองความต้องการพลังงานภายในประเทศให้ได้ภายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ด้วยความช่วยเหลือจากนักลงทุนต่างชาติ หลังมาตรการคว่ำบาตรถูกยกเลิกลง.