ASTVผู้จัดการออนไลน์ - เดือน ก.พ.ปีนี้มีข่าวฮือฮาชิ้นหนึ่งที่ทั้งภูมิภาคและทั่วโลกจับตามองอย่างใกล้ชิดคือ ข่าวที่ว่า รัสเซียกำลังจะเซ็นสัญญาซื้อขายเครื่องบินรบล้ำหน้าซูคอย-35 (Su-35) ให้แก่จีนจำนวน 48 ลำ มูลค่าราว 4,000 ล้านดอลลาร์ ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่ายภายในรัสเซียเอง แต่สัปดาห์นี้ทุกอย่างได้เปลี่ยนไป
การเจรจาซื้อขายดังกล่าวได้ได้หยุดลงแล้ว ผู้บริหารบริษัทค้าและส่งออกอาวุธของรัฐ เป็นผู้เปิดเผยเรื่องนี้
“เราได้พยายามส่งเสริมซู-35 ในตลาดจีน” นายวิกเตอร์ โกมาดิน (Victor Komadin) รองผู้อำนวยการบริษัทรอสโซบอโรเน็กซ์พอร์ต (Rosoboronexport) ในสังกัดกระทรวงกลาโหม กล่าวในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ในวันที่ 17 เม.ย. ที่ผ่านมา ระหว่างไปร่วมงานแสดงด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ที่จัดขึ้นในกรุงกัวลาลัมเปอร์
“อย่างไรก็ตาม ฝ่ายจีนต้องการซื้อ (เครื่องบินซู-35) ในจำนวนจำกัด ขณะที่เราต้องการขายล็อตใหญ่ เพื่อให้การซื้อขายมีความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจ” นายโกมาดินกล่าวโดยไม่ได้อธิบายในรายละเอียด แต่ถือเป็นการสิ้นสุดการเจรจาที่ดำเนินมาตั้งแต่ปลายปี 2553
ข่าวที่ระบุว่า จีนเจรจาซื้อล็อตใหญ่ถึง 48 ลำ รวมทั้งครั้งล่าสุดในเดือน ก.พ.ปีนี้ ล้วนเป็นข่าวที่รายงานโดยสื่อในรัสเซีย ซึ่งบัดนี้แสดงให้เห็นว่า จีนได้ต่อรองลดจำนวนที่ขอซื้อลง แต่นายโกมาดินก็ไม่ได้เปิดเผยตัวเลขว่าเป็นจำนวนกี่ลำ และที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีข่าวนี้จากฝ่ายจีน
นักวิเคราะห์มองก่อนหน้านี้ว่า การขอซื้อเครื่องบินล้ำหน้า “ยุคที่ 4++” ของรัสเซีย อาจจะสะท้อนว่า จีนกำลังมีปัญหาในการผลิตเครื่องบินล้ำยุคของตน ขณะเร่งพัฒนากองทัพประชาชนที่มีกำลังพลมากที่สุดในโลกให้ทันสมัย ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่า หากไม่นำเข้าเทคโนโลยีที่จำเป็นต่างๆ จีนก็อาจจะต้องใช้เวลาอีก 20-30 ปี จึงจะทัดเทียมโลกตะวันตก
อีกจำนวนหนึ่งกล่าวก่อนหน้านี้ว่า หากรัสเซียไม่ยอมติดตั้งอุปกรณ์การบินกับเครื่องยนต์เทคโนโลยีสูง รวมทั้งระบบอาวุธที่ทันสมัยใน Su-35 ให้แก่จีน ฝ่ายจีนก็อาจจะสนใจการซื้อล็อตใหญ่น้อยลง และอาจจะไม่ยอมตกลงในที่สุด
.
.
ข่าวการเจรจาซื้อขายเครื่องบิน Su-35 “ซูเปอร์แฟล็งเคอร์” (Super Flanker) เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในเว็บไซต์ข่าวกลาโหมต่างๆ มาตลอด รวมทั้งผ่านสื่อต่างๆ ในรัสเซียด้วย นักวิชาการในกรุงมอสโกหลายรายได้ออกเตือนรัฐบาลประธานาธิบดีดิมิตรี เมดเวเดฟ ให้ระวังการขายอาวุธทันสมัยให้จีน ซึ่งในอดีตเป็นศัตรูคู่อาฆาตของค่ายคอมมิวนิสต์ใหญ่โซเวียต
เมื่อโซเวียตแตกเป็นเสี่ยง และกลายมาเป็นสหพันธรัฐรัสเซียซึ่งล้มละลายทางเศรษฐกิจนั้น ประเทศนี้ต้องการเงินมหาศาลไปพัฒนาประเทศ รวมทั้งซื้ออาหารให้แก่ประชาชน กว่า 140 ล้านคน ทำให้ต้องขายอาวุธที่มีอยู่เหลือเฟือให้จีน รวมทั้งขายลิขสิทธิ์การผลิตเครื่องบินรบ Su-27 “แฟล็งเคอร์” ให้ด้วย
จาก Su-27 จีนได้พัฒนาเครื่องบินคู่แฝดขึ้นมา ภายใต้รหัส J-15 ซึ่งดูดีกว่า และเก็บงานต่างๆ ได้ละเอียดกว่าเครื่องบินต้นแบบของรัสเซียเสียอีก รวมทั้งติดระบบควบคุมการบิน ระบบเรดาร์และระบบควบคุมอาวุธ รวมทั้งใช้เครื่องยนต์ที่สร้างขึ้นด้วยเทคโนโลยีของจีนเอง
ซู-27 เป็นเครื่องบินรบอเนกประสงค์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด และประสิทธิภาพดีที่สุดอีกรุ่นหนึ่งของโลก เคยได้ชื่อเป็นเจ้าเวหาของค่ายหลังม่านเหล็กในยุคสงครามเย็น
บริษัทซูคอยได้พัฒนาเครื่องบินรุ่นนี้มาเป็นระยะ และใช้รหัสเรียกต่างๆ กันไปตามเทคโนโลยี ระบบอาวุธ หรือเครื่องยนต์ที่ติดตั้งใหม่ ปัจจุบัน รัสเซียได้พัฒนามาถึง Su-30 ทั้งเพื่อใช้ในกองทัพและส่งออก และพัฒนา Su-33 เพื่อประจำการบนเรือบรรทุกคุซเน็ตซอฟ
ปัจจุบัน จีนกำลังเร่งพัฒนาเครื่องบิน “ซู-33” ของจีนเองเช่นกัน โดยใช้รหัส J-18 และอยู่ระหว่างทดลองใช้บนเรือบรรทุกเครื่องบินวาร์แยก (Varyag) ที่จีนสร้างขึ้นใหม่จากโครงเรือที่เอกชนรายหนึ่งซื้อจากสาธารณรัฐยูเครนในสภาพเศษเหล็ก เพื่อนำไปทำเป็น “กาสิโนลอยน้ำ”
Made in China จีนทำได้ทุกอย่าง
.
เครื่องบิน J-18 ของจีนก็มีที่มาคล้ายกัน เป็นการพัฒนาแบบสร้างขึ้นใหม่จากโครงของ Su-33 ลำหนึ่งที่สหภาพโซเวียตทิ้งเอาไว้ในสาธารณรัฐยูเครน และจีนซื้อไปในสภาพเศษเหล็กเมื่อกว่า 10 ปีก่อน
อย่างไรก็ตาม แม้บริษัทค้าอาวุธของรัฐบาลจะอ้างว่า Su-35 เวอร์ชันส่งออก รวมทั้งที่จะขายให้จีนนั้น จะไม่ได้เทคโนโลยีการบินและเทคโนโลยีอาวุธที่ทันสมัยไปด้วย และติดเครื่องยนต์คนละรุ่นกับที่ใช้ในกองทัพอากาศรัสเซีย แต่นักวิชาการก็มองว่า วันหนึ่งข้างหน้า จีนอาจจะหันคมหอกคมดาบเหล่านี้กลับเข้าใส่รัสเซียก็เป็นได้
แต่บางเสียงก็กล่าวว่า ถึงกระนั้นการขายอาวุธให้จีนก็อาจจะมีผลดี อย่างน้อยจะทำให้รัสเซีย “รู้จักจีน” มากยิ่งขึ้นในยามศึกสงคราม
ยังไม่มีข่าวคราวใดๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้จากฝ่ายจีนอีกเช่นเคย.